โดย wannee » 11 มี.ค. 2009, 00:19
แถลงการณ์คัดค้าน ที่แจกให้ผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2552 ที่รัฐสภา
เดี๋ยวจะลองเอาไฟล์ขึ้นไว้ด้วยค่ะ ช่วยๆส่งต่อให้ด้วยนะคะ ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ
แถลงการณ์คัดค้านการออกข้อบังคับสภาเภสัชกรรมว่าด้วยการรับรองปริญญา ประกาศนียบัตรในวิชาเภสัชศาสตร์ หรือวุฒิบัตรในวิชาชีพเภสัชกรรมของสถาบันต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการสมัครเป็นสมาชิก พุทธศักราช ๒๕๕๑ ที่ขาดหลักธรรมาภิบาล และทำให้สังคมไทยเสียประโยชน์
การที่สภาเภสัชกรรมออกข้อบังคับฯโดยกำหนดให้ตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๕๗ เป็นต้นไป สภาฯจะให้การรับรองปริญญาเฉพาะหลักสูตรที่มีมาตรฐานตามหลักเกณฑ์ของหลักสูตร ๖ ปี ทำให้คณะเภสัชฯทั่วประเทศต้องเร่งเปลี่ยนแปลงหลักสูตรจากเดิม ๕ ปีเป็น ๖ ปีให้ทันในปีการศึกษานี้ เพื่อให้นักศึกษาที่จบในปีการศึกษา ๒๕๕๗ จากสถาบันที่ได้รับการรับรอง สามารถสมัครเป็นสมาชิกสภาฯ เพื่อที่จะได้รับอนุญาตให้สมัครสอบวัดความรู้เพื่อขอรับใบประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมได้นั้น
ข้าพเจ้าและคณะ ขอคัดค้านการออกข้อบังคับฯฉบับนี้ของสภาเภสัชกรรม เพราะกระบวนการออกข้อบังคับฯดังกล่าวของสภาเภสัชกรรมนั้นขาดซึ่งธรรมาภิบาลและเพิ่มภาระให้แก่สังคม เนื่องจาก
โดยปกติแล้ว การออกข้อบังคับฯที่มีผลกระทบต่อทั้งประเทศนั้น ควรมีการศึกษาข้อมูล ไตร่ตรองผลดีผลเสีย และพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อให้แน่ใจว่าสังคมจะได้ประโยชน์อย่างแน่นอน แต่ในความเป็นจริงแล้วกลับพบว่า สภาเภสัชกรรมใช้เพียงข้ออ้างที่ไม่สมเหตุสมผล และเลียนแบบต่างประเทศโดยไม่พิจารณาถึงความเหมาะสมกับสังคมไทย ซึ่งแม้แต่คนกลุ่มใหญ่ในวิชาชีพก็ยังไม่เห็นด้วยและมีประเด็นโต้แย้งซักถาม หรือแม้แต่สถาบันการศึกษาหลายแห่งก็ยังต้องทำหนังสือซักถามและเสนอแนะต่อสภาเภสัชกรรมเช่นกัน อย่างไรก็ตามสภาเภสัชกรรมก็ไม่ได้ใส่ใจที่จะตอบคำถามหรือจัดให้มีประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด
การออกข้อบังคับฯของสภาเภสัชกรรมยังเป็นไปโดยไม่มีอำนาจดำเนินการ แต่ใช้วิธีการพลิกแพลงเพื่อหาเหตุให้ได้ว่าตนเองมีอำนาจ ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อเจตนารมย์ของกฎหมาย พรบ.วิชาชีพเภสัชกรรมฯระบุเพียงว่าสภาเภสัชกรรมมีอำนาจในการรับรองปริญญาเพื่อประโยชน์ในการสมัครสมาชิก และรับรองหลักสูตรในการฝึกอบรมเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ โดยไม่ได้ระบุว่าสภาฯมีอำนาจในการรับรองหลักสูตรอื่นๆ แต่อย่างใด หากสภาฯกลับใช้ลูกเล่นโดยใช้คำว่า ?เห็นชอบหลักสูตร? เพื่อที่จะทำการรับรองปริญญา เพื่อเป็นประโยชน์ในการสมัครสมาชิกอีกต่อหนึ่ง
ผลกระทบเชิงลบที่จะเกิดขึ้นทันทีต่อสังคมไทยคือ การเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายทางการศึกษาแก่บรรดาพ่อแม่ผู้ปกครองรวมถึงงบประมาณภาครัฐที่ต้องใช้ไปในการอุดหนุนการศึกษาอีก ๑ ปีทันทีอย่างน้อยที่สุดปีละ ๖๐๐ ล้านบาท โดยไม่สามารถบอกได้เลยว่าทั้งในระยะสั้นและระยายาวสังคมจะดีขึ้นกว่าเดิมอย่างไร ในภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวนเกือบตลอดเวลาเช่นในปัจจุบัน การกระทำลักษณะนี้จะยิ่งทำให้เกิดอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจมากขึ้นอีก
ผลลบระยะยาวที่จะเกิดขึ้นคือการบั่นทอนศักยภาพในการพึ่งตนเองของประเทศ เพราะระยะเวลาการศึกษาในระดับปริญญาตรีที่มากเกินจำเป็น ถ้าหากต้องการศึกษาต่อในระดับปริญญาโท/เอกที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อการค้นคว้าและพัฒนาสิ่งใหม่ๆแล้ว ก็จะยิ่งทำให้ต้องใช้เวลาเรียนและค่าใช้จ่ายในการเรียนมากขึ้นอีก ผู้ที่เรียนปริญญาตรีที่ต้องใช้เวลานานถึง ๖ ปีแล้ว มีน้อยคนมากที่จะกลับมาเรียนต่อในระดับปริญญาโท/เอก
นอกจากนั้นแล้ว สภาเภสัชกรรมยังมุ่งเน้นการพัฒนาการเรียนการสอนในแต่ละสาขาอย่างไม่สมดุล โดยให้ความสำคัญกับบางสาขามากไป ทำให้ ในระยะยาวประเทศไทยจะขาดแคลนเภสัชกรในสายการผลิต และสายวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทำให้ต้องพึ่งการนำเข้ายาจากต่างประเทศมากขึ้น เป็นการผลักให้สังคมไทยเข้าสู่ความเป็นสังคมบริโภคที่ขาดการผลิตและพัฒนาด้วยตนเองมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายเป็นอย่างยิ่งสำหรับความอยู่รอดของประเทศชาติในอนาคต
เพื่อประโยชน์สูงสุดของสังคมไทย ข้าพเจ้าและคณะ ขอคัดค้านการออกข้อบังคับฯนี้ โดยขอให้สภาเภสัชกรรมยกเลิกการใช้ข้อบังคับฯดังกล่าวโดยเร็วที่สุด และจัดให้มีการทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้น และเพื่อร่วมกันหาทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับสังคมไทยในการพัฒนาการศึกษาเภสัชศาสตร์ทั้งในระดับปริญญาตรี/โท/เอกรวมถึงการศึกษาต่อเนื่อง เพื่อให้ได้เภสัชกรที่มีคุณภาพ สามารถรับใช้สังคมได้อย่างเต็มที่ และช่วยพัฒนาความมั่นคงทางสุขภาพให้แก่ประเทศชาติต่อไป
แถลงเมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๕๒
(ภญ.ดร.วรรณี ชัยเฉลิมพงษ์) (ภญ.รศ. ดร.กรรนิการ์ ฉัตรสันติประภา)
(ภก. ดร.สมชาย สุริยะไกร) (ภญ.รศ.ดร.ฉันทนา อารมย์ดี)
(ภก.รศ.ดร.วงศ์วิวัฒน์ ทัศนียกุล) (ภญ.รศ.ดร.จินดา หวังบุญสกุล)
(ภญ.รศ.ดร.วัชรี คุณกิตติ) (ภก.ผศ.ศุภชัย ติยวรนันท์)
- แนบไฟล์
-
letter to journalist 2 Mar 09.pdf
- (71.28 KiB) ดาวน์โหลด 717 ครั้ง