รศ. ดร. เรณา พงษ์เรืองพันธุ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ กล่าวว่า โครงการจัดตั้งคณะเภสัชศาสตร์นี้เกิดขึ้นจากปรัชญาของมหาวิทยาลัยที่ต้องการผลิตบัณฑิตในสาขาวิชาด้านสุขภาพ แพทย์ พยาบาล ซึ่งมหาวิทยาลัยก็มีคณะแพทยศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์แล้ว มีทั้งบัณฑิตที่จะจบไปเป็นแพทย์ พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่ทางสาธารณสุขแล้ว แต่ยังขาดผู้ดูแลด้านการผลิตยา ดังนั้น ด้วยเหตุนี้ มหาวิทยาลัยจึงมีโครงการจัดตั้งคณะเภสัชศาสตร์ขึ้น อีกทั้งเป็นความต้องการของประเทศด้วยที่ยังขาดบุคลากรทางด้านเภสัชเป็นจำนวนมาก
รศ.ดร. เรณา กล่าวต่อไปว่า โครงการจัดตั้งคณะเภสัชศาสตร์ยังอยู่ในขั้นตอนที่จะต้องส่งให้กรรมการบริหารสภามหาวิทยาลัย คณบดี และผู้บริหารทุกระดับพิจารณา ซึ่งเมื่อผ่านการพิจารณาแล้วนั้นจะต้องส่งหลักสูตรไปยังสภาวิชาชีพเภสัชกรพิจารณาอีกครั้ง จึงจะสามารถจัดตั้งเป็นคณะได้ ซึ่งสภาวิชาชีพเภสัชกรรมจะพิจารณาความพร้อมด้านต่าง ๆ และความพร้อมในตัวหลักสูตร โดยใช้เวลาประมาณ 6 เดือนในการพิจารณา หากคุณสมบัติ และความพร้อมต่าง ๆ ผ่านทางสภาวิชาชีพ ฯ แล้ว ก็สามารถเปิดรับนิสิตเข้าศึกษาได้ทันที
รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ กล่าวเกี่ยวกับการเตรียมพร้อมด้านหลักสูตรว่า หลักสูตรนี้ใช้ระยะเวลาในการรวบรวมถึง 1 ปี โดยทีมอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยนเรศวร ประธานที่ดูแลหลักสูตรคือ รศ.ดร.มณฑล สงวนเสริมศรี อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร และทีมผู้ทรงคุณวุฒิอีก 10 คน ได้ขอความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยนเรศวรให้ลงมาดูเรื่องหลักสูตรให้เนื่องจากมหาวิทยาลัยนเรศวรนั้นมีประสบการณ์มาก่อน ซึ่งสามารถนำปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการเรียนการสอนของนิสิตเภสัชศาสตร์ หรือแม้แต่เวลาฝึกวิชาชีพ มาแก้ไขปัญหา สรุป และปรับหลักสูตรที่จะมีขึ้นใหม่นี้ให้ทันสมัยมากขึ้น ซึ่งหลักสูตรใหม่นี้ถือว่าเป็นหลักสูตรที่มีความแตกต่างจากที่อื่นซึ่งผู้เรียนจะได้รับการดูแลทักษะต่าง ๆ ตามกรอบและมาตรฐานของวิชาชีพ
รศ. ดร. เรณา กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับความพร้อมด้านการบริหารว่า ความพร้อมด้านบุคลากรอาจารย์นั้นไม่มีปัญหา เนื่องจากอาจารย์ผู้สอนกลุ่มแรกจะย้ายมาจากมหาวิทยาลัยนเรศวร นอกจากนี้ยังมีบุคลากรด้านเภสัชกรรมที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบูรพาที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเภสัชศาสตร์ อาจารย์ที่เรียนจบเภสัชศาสตร์โดยตรงซึ่งตอนนี้ประจำอยู่ที่คณะวิทยาศาสตร์ ความพร้อมด้านการเงินนั้นก็ได้มีการจัดตั้งงบประมาณรองรับไว้แล้วเบื้องต้น ความพร้อมด้านสถานที่และอุปกรณ์จะอยู่ที่คณะเวชศาสตร์ ของตึกวิทยาศาสตร์การแพทย์ชั้น 3 และความพร้อมด้านการบริหารซึ่งจะเกิดขึ้นภายหลังจากหลักสูตรได้ผ่านการพิจารณาเรียบร้อยแล้ว
ด้าน ภญ. จงจิตร อริยประยูร หัวหน้าเภสัชกรโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบูรพา หนึ่งในอาจารย์ที่ได้รับเลือกให้มีบทบาทในการสอนคณะเภสัชศาสตร์ กล่าวว่า หากมองในแง่หลักสูตรเภสัชศาสตร์ คงจะเป็นหลักสูตร 6 ปีเหมือนมหาวิทยาลัยอื่น ๆ โดยส่วนตัวแล้วอาจได้รับให้ดูแลในส่วนของวิชาชีพมากกว่า ซึ่งมองว่าโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบูรพาก็จะเป็นแหล่งหนึ่งที่สามารถฝึกวิชาชีพแก่นิสิตคณะเภสัชศาสตร์ได้ สำหรับความพร้อมในภาพรวมของมหาวิทยาลัยนั้น หากมีโครงการจัดตั้งคณะเภสัชศาสตร์ขึ้นมาแล้วแสดงว่ามหาวิทยาลัยคงมีความพร้อมในระดับหนึ่ง แล้วในอนาคตต่อไปมหาวิทยาลัยก็ต้องสร้างความพร้อมในด้านต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นด้านนโยบายต่าง ๆ ที่จะออกมา บุคลากร เครื่องไม้เครื่องมือ และแหล่งฝึกเพื่อนิสิต
หัวหน้าเภสัชกรโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวต่ออีกว่า ด้านการเรียนการสอนนั้นในช่วงปีแรกของนิสิตต้องเรียนวิชาพื้นฐานต่าง ๆ ก่อนเหมือนนิสิตอื่น เช่น วิชาทางวิทยาศาสตร์ทั่วไป สังคม และวิชาพื้นฐานทางด้านเภสัชศาสตร์ด้วย อาทิ สรีระวิทยา พิษวิทยา พยาธิวิทยา ฯลฯ พอในชั้นปีที่สูงขึ้นมาก็จะเรียนเภสัชศาสตร์อย่างเจาะลึก และเข้าสู่การฝึกวิชาชีพ ซึ่งเป็นการนำสิ่งที่เรียนมาทั้งหมดมาประยุกต์ใช้จริงกับการฝึกวิชาชีพ
แก้ไขล่าสุด (วันจันทร์ที่ 21 กันยายน 2009 เวลา 21:53 น.)



http://www.coconews.in.th/index.php?opt ... 3&Itemid=6