ตั้งจิตอธิษฐาน อุทิศบทความนี้แด่ สภาเภสัชกรรมแห่งประเทศไทย และ เภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทย
http://www.matichon.co.th/matichon/mati ... ionid=0116วันที่ 08 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11016
ปัจจัย ความเสื่อม ปัจจัย ภายใน ภายนอก วิกฤตการณ์ ผู้ใหญ่คอลัมน์ วิภาคแห่งวิพากษ์
ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ไม่ว่าจะเป็น นายธีรยุทธ บุญมี ความเห็นตรงกันเรื่องแนวโน้มหนึ่งในทางสังคม คือ
แนวโน้มที่ความเชื่อมั่น ศรัทธา ต่อ "ผู้ใหญ่" ลดน้อยลงเพียงแต่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ สรุปว่าเป็นลักษณะอันเป็น "อาเพศ"
เพียงแต่ นายธีรยุทธ บุญมี สรุปว่าเป็นลักษณะอันเป็น "ความเสื่อม" หนึ่งที่ปรากฏเด่นชัดยิ่งขึ้นเป็นลำดับ
นี่ย่อมดำเนินไปตามกฎแห่งความไม่เที่ยง เป็นอนิจจลักษณะเป็นอนิจจลักษณะซึ่งไม่เพียงแต่ดำรงอยู่อย่างเป็นธรรมชาติภายในของทุกสรรพสิ่ง ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต
ทั้งที่เป็นพืชและเป็นสัตว์
ทั้งที่เป็นคนและไม่ใช่คน
อันถือว่าเป็นเหตุปัจจัยภายในในแต่ละสรรพสิ่งเท่านั้น
หากความไม่เที่ยงเหล่านี้ยังสัมพันธ์กับแรงกระทบอันเนื่องแต่เหตุปัจจัยภายนอก
นั่นก็คือ ขึ้นอยู่กับตัวตนของ "ผู้ใหญ่" และขึ้นอยู่กับสภาวะที่แวดล้อม "ผู้ใหญ่" นั้นด้วยกระนั้น ในที่สุดแล้วความเสื่อมย่อมมาจากวัตรปฏิบัติของ "ผู้ใหญ่" อย่างเป็นด้านหลัก อย่างมีนัยสำคัญ
เหตุปัจจัยอันใดที่ทำให้ "ผู้ใหญ่" ดำรงอยู่ในสถานะแห่งความเป็น "ผู้ใหญ่" ได้รับความเคารพ ได้รับความเชื่อมั่น ได้รับความศรัทธา
นี่ย่อมมิได้เป็นเรื่องของ "วัยวุฒิ" ประการเดียว
นี่ย่อมมิได้เป็นเรื่องของ "ชาติวุฒิ" ประการเดียว
นี่ย่อมมิได้เป็นเรื่องของยศถาบรรดาศักดิ์ นี่ย่อมมิได้เป็นเรื่องของตำแหน่งอันสูงส่ง ประการเดียว
ทั้ง 3 ประการนี้เป็นประหนึ่งเหตุปัจจัย เกื้อหนุน เสริมส่ง
หากประการสำคัญอันเป็นปัจจัยชี้ขาดเป็นอย่างมากย่อมขึ้นอยู่กับวัตรปฏิบัติอันเป็นที่ประจักษ์ในเรื่องความบริสุทธิ์ ความเที่ยงธรรมที่ว่าประจักษ์นั้นย่อมเป็นการประจักษ์อย่างเป็นรูปธรรม
รูปธรรมนั้นก็คือ ประจักษ์ว่าท่านอยู่เหนือผลประโยชน์ ท่านอยู่เหนือสภาวะแห่งความขัดแย้งแตกแยกที่เกิดขึ้น ดำรงอยู่และดำเนินไปความเสื่อมจะปรากฏพลันที่มีผลประโยชน์ พลันที่มีการฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเหตุใดทั้งมนุษย์และเทวดาจึงมองเห็นความเที่ยงธรรมของท้าวมาลีวราชเมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างพระรามกับราพนาสูร
แม้ว่าท้าวมาลีวราชจะเป็นญาติกับฝ่ายของราพนาสูร
คำตอบประการหนึ่ง คือ ความเที่ยงธรรม คำตอบประการหนึ่ง คือการเลือกข้างที่ถูกโดยไม่คำนึงเรื่องความสัมพันธ์ทางส่วนตัว
นี่คือรูปธรรมของการอยู่เหนือผลประโยชน์ อยู่เหนือความขัดแย้งแต่หากเมื่อใดท้าวมาลีวราชกระโจนไปอยู่ฝ่ายเดียวกับราพนาสูตรหรือฝ่ายพระรามตั้งแต่ต้นก็ยากเป็นอย่างยิ่งจะได้รับความเชื่อถือ
"ผู้ใหญ่" ที่ลงมาละเลงด้วยมือของตนเองยากยิ่งจะดำรงสถานะความเป็น "ผู้ใหญ่" อยู่ได้
กระแสวิพากษ์วิจารณ์ความเหมาะควรของ "ผู้ใหญ่" บางคน กระแสตั้งข้อสงสัยต่อคุณธรรมและจริยธรรมของ "ผู้ใหญ่" บางคน หากมาจากข้อสังเกตของฝ่ายตรงข้ามอาจไม่มีน้ำหนักอะไรนักแต่หากมาจากการกระทำของตัว "ผู้ใหญ่" เอง นั่นแหละคือเหตุปัจจัยในการปั่นทอนและทำให้บังเกิดความเสื่อมตามมา
ความเสื่อมของ "ผู้ใหญ่" จึงเป็นความเสื่อมที่มาจากเหตุปัจจัยภายใน นั่นก็คือ วัตรปฏิบัติของ "ผู้ใหญ่" เองเป็นสำคัญไม่มีใครทำลายความเป็นผู้ใหญ่ของ "ผู้ใหญ่" ได้เท่ากับตัวของ "ผู้ใหญ่เอง"
ความเป็นอนิจจังของสังคมจึงสัมพันธ์กับความเป็นอนิจจังของสรรพสิ่งในสังคม
ความเสื่อมของ "ผู้ใหญ่" ที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ และ นายธีรยุทธ บุญมี เป็นห่วงจึงไม่ใช่เพราะปัจจัยจากภายนอกหากแต่เริ่มต้นจากปัจจัยภายใน
เป็นความเสื่อมจากภายในโดยมีปัจจัยภายนอกมีส่วนเร่งให้ทรุดเสื่อมเร็วยิ่งขึ้น