New Document









มลพิษทางอากาศคร่าชีวิตคนไทย 2.2 หมื่นคนต่อปี : WHO

ข่าวสารสาธารณสุข

มลพิษทางอากาศคร่าชีวิตคนไทย 2.2 หมื่นคนต่อปี : WHO

โพสต์โดย kiatisak » 15 ส.ค. 2017, 09:27

มลพิษทางอากาศคร่าชีวิตคนไทย 2.2 หมื่นคนต่อปี : รายงานล่าสุดของ WHO

เมื่อเร็วๆ นี้ องค์การอนามัยโลก ได้ออกรายงานการศึกษาเรื่อง “มลพิษทางอากาศ : การประเมินการสัมผัสและภาวะโรค” ประจำปี 2016 (แต่ไม่ระบุเดือนที่พิมพ์) เป็นรายงานที่ออกมาหลังจากองค์การสหประชาชาติ ได้เสนอ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” (2015) ผมได้สรุปบางส่วนพร้อมกับแผนที่แสดงปริมาณความเข้มข้นของมลพิษในอากาศ (Ambient Air Pollution) ในส่วนต่างๆ ของโลก ดังแผ่นภาพครับ

เราค่อยๆ มาทำความเข้าใจกัน ไม่ได้ยากอย่างที่บางท่านคิด แต่เป็นเรื่องสำคัญระดับชีวิตของเราทุกคนครับ เพราะมลพิษดังกล่าวได้คร่าชีวิตชาวโลกถึงปีละ 3 ล้านคน และคนไทยเราก็ติดไปด้วยถึง 2.2 หมื่นคนต่อปี

ผู้ศึกษาได้ข้อมูลมาจากการเก็บตัวอย่างจาก 3,000 เมือง ใน 194 ประเทศทั่วโลกของหน่วยงานในเครือข่ายในช่วงปี 2008-2015 จากนั้นก็ใช้กระบวนการสร้างแบบจำลอง และการคำนวณออกมาเพื่ออธิบายภาวะที่เป็นอยู่ทั่วทั้งโลก ผมไม่ขอลงรายละเอียดเรื่องวิธีการศึกษานะครับ

สีต่างๆ ในแผนที่แสดงความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศที่เรียกว่า Particulate Matter ซึ่งเป็นวัตถุที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมโครเมตร (นักวิทยาศาสตร์เรียก PM2.5) หรือมีขนาดประมาณ 1 ใน 30 ของเส้นผ่าศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์เท่านั้น วัตถุนี้ยิ่งมีขนาดเล็กลงเท่าใด ยิ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตมากขึ้นเท่านั้น เพราะมันสามารถผ่านอวัยวะที่ทำหน้าที่กรองโดยธรรมชาติได้

องค์การอนามัยโลก ได้ให้คำแนะนำว่า ความเข้มข้นของสาร PM2.5 ไม่ควรจะเกิน 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (1 ไมโครกรัมเท่ากับ 1 ใน 1 ล้านกรัม) แต่จากรายงาน และมองเห็นได้จากแผนที่โลกนี้ (ซึ่งเป็นค่าที่เกิดจากการคำนวณ และเป็นค่าเฉลี่ยตลอดทั้งปี) พบว่า มีประชากรประมาณเพียง 8% ของโลกเท่านั้นที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่ปลอดภัยจากมลพิษดังกล่าว ในขณะที่คนไทยเรามีมลพิษดังกล่าวสูงถึงประมาณ 3 เท่าของระดับในคำแนะนำครับ

เราสามารถสังเกตได้ว่า ในบริเวณที่เป็นที่ตั้งของประเทศที่มีรายได้สูง เช่น ยุโรป สหรัฐอเมริกา ความเข้มข้นของสาร PM2.5 จะน้อย แต่ในบริเวณที่มีสาร PM2.5 สูงจะเป็นที่ตั้งของประเทศรายได้ต่ำ และรายได้ปานกลาง

รายงานนี้ยังระบุอีกว่า ในอนาคตความเข้มข้นของสารดังกล่าวในประเทศที่มีรายได้สูงมีแนวโน้มจะลดลง ในขณะที่กลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศในกลุ่มแปซิฟิกตะวันตก (รวมทั้งจีน) กลับมีแนวโน้มสูงขึ้น

จำนวนผู้เสียชีวิตจากมลพิษดังกล่าวในประเทศจีน และอินเดียสูงถึง 1 ล้านคน และกว่า 6 แสนคนต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ประเทศไทยเราซึ่งมีจำนวนประชากรพอๆ กับประเทศฝรั่งเศสแต่เรามีจำนวนผู้เสียชีวิตสูงถึง 2 เท่าของฝรั่งเศส คำอธิบายก็สามารถดูได้จากสีของแผนที่ คือ ความเข้มข้นของสาร PM2.5 ของฝรั่งเศสก็ไม่ถึงครึ่งของที่ประเทศไทยเรามี

สาร PM2.5 เกิดจากอะไร และทำไมจึงอันตรายถึงตาย เพื่อให้เข้าใจง่ายผมนำเสนอด้วยภาพก่อนเลยครับ

การเกิดของสาร PM2.5 และสาร PM10 (มีขนาด 10 ไมโครเมตร) เกิดจาก 2 กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ คือ กระบวนการทางฟิสิกส์ ซึ่งเกิดจากลม หรือพายุพัดพาเอาฝุ่นละอองแล้วมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ กับกระบวนการทางเคมีในอากาศซึ่งมีสารที่เกิดจากเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้า การจราจร โรงงานอุตสาหกรรม และครัวเรือน เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โลหะหนัก ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และไนตรัสออกไซด์ รวมทั้งการทำปฏิกิริยาเคมีกันเองของสารเหล่านี้ในอากาศอีกด้วย

รายงานขององค์การอนามัยโลกฉบับนี้ไม่ได้ให้รายละเอียดว่า มลพิษ PM2.5 มาจากไหนบ้างเป็นร้อยละเท่าใด แต่เท่าที่ผมค้นคว้าจากแหล่งอื่น พบว่า ในสหรัฐอเมริกา ประมาณครึ่งหนึ่งมาจากโรงไฟฟ้า ในขณะที่ในประเทศสหราชอาณาจักร ประมาณ 20% มาจากประเทศอื่น

โอ้! มันสามารถเคลื่อนที่ไปมาได้ไกลชนิดข้ามพรมแดน (ไม่ต้องใช้พาสปอร์ต) ถึงขนาดนั้นเลยหรือ

ในประเด็นที่ว่าทำไม PM2.5 จึงอันตรายถึงชีวิต

ภาพซ้ายมือสุด แสดงการเปรียบเทียบระหว่างขนาดของเส้นผมของมนุษย์ ถ้าเส้นผมมีขนาดดังในรูป สาร PM2.5 ก็จะสามารถมองเห็นได้ ภาพบนทางขวามือแสดงให้เห็นสาร PM2.5 ในระบบทางเดินหายใจของมนุษย์ สำหรับภาพปอดของคนก็คงไม่ต้องอธิบายนะครับ

คราวนี้มาถึงเรื่องโรค และจำนวนผู้เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศ ผู้ศึกษาระบุว่า มี 4 โรค (ดูในตารางครับ)

นอกจากความเข้มข้นของ PM2.5 จะมาจากการคำนวณแล้ว จำนวนผู้ตายจากโรคต่างๆ ก็มาจากการคำนวณ ไม่ใช่จากการเก็บสถิติ

ผลการศึกษาพบว่า จาก 8 ประเทศที่ผมเลือกมานำเสนอ ประเทศไทยมีความเข้มข้นของสาร PM2.5 สูงเป็นอันดับที่ 3 รองจากจีน และอินเดีย และอัตราการตายต่อจำนวนประชากร 1 แสนคนก็อยู่ในอันดับที่ 3 เช่นกัน (คงเป็นหลักคิดของผู้ศึกษา) โดยมีจำนวนผู้เสียชีวิตจาก 4 โรคดังกล่าวรวมกันปีละ 2.24 หมื่นคน

เนื่องจากผมเองไม่ค่อยเข้าใจในหลักวิชาของผู้ศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวกับภาวะโรค ผมจึงได้นำข้อมูลจำนวนผู้เสียชีวิตของคนไทยจากสำนักงานสถิติแห่งชาติมาเปรียบเทียบกันดู

พบว่า ในปี 2557 คนไทยเราเสียชีวิตปีละ 4.4 แสนคน ในจำนวนนี้มีสาเหตุมาจากโรคมะเร็งทุกชนิดรวมกัน จำนวน 7.0 หมื่นคน ซึ่งนำโด่งอันดับที่ 2 คือ ความดันเลือดสูง และโรคหลอดเลือดในสมองถึงกว่า 2 เท่าตัว (ดูตาราง)

กล่าวเฉพาะการตายจากโรคมะเร็งทุกชนิดอย่างเดียวในช่วง 2550-2557 พบว่า ได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 4.4% ซึ่งสูงกว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพีเสียอีก! ที่น่าตกใจกว่านั้น การตายจากโรคความดันเลือดสูง และโรคหลอดเลือดในสมองเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 15.8% ต่อปี

ในเรื่องสถิติการตายของคนไทย ผมมีข้อสังเกต 2 ประการ คือ

หนึ่ง การจำแนกชนิดของโรคของไทยกับของรายงานโดยองค์การอนามัยโลกไม่ตรงกัน จึงทำให้เราไม่ทราบได้ว่า ผลการศึกษาของรายงานดังกล่าวมีความใกล้เคียงกับ “ความจริง” มากน้อยแค่ไหน เช่น จำนวนผู้ตายจากมะเร็งปอดจากมลพิษทางอากาศอย่างเดียว จำนวนกว่า 4 พันคน กับจำนวนผู้ตายจากมะเร็งทุกชนิด 7 หมื่นคน นั้นมีความสอดคล้องหรือใกล้เคียงกันหรือไม่ หรือต้องหาข้อมูลเพิ่มเติม

สอง จากตารางของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ทำไมสาเหตุการตายจากความชรา จึงไม่ได้ถูกจัดให้เป็นสาเหตุการตายชนิดหนึ่ง นอกจากนี้ สาเหตุการตายจาก “อื่นๆ” ในตารางซึ่งมีมากถึงกว่า 2 แสนคน (เกือบครึ่งของจำนวนการตายทั้งหมด) นั้น มันจะทำให้ความชัดเจนของข้อมูลเลือนรางไปหรือเปล่าครับ ถ้าเราสามารถดึงข้อมูลสาเหตุการตายจากความชราออกมาได้ จะทำให้เราเข้าใจถึงภาวะของสังคมไทยได้ดีขึ้น

สรุป รายงานขององค์การอนามัยโลกฉบับล่าสุดนี้ ยังมีรายละเอียดอีกเยอะครับ รวมทั้งผู้ศึกษาเองก็กล่าวถึงปัญหาในการศึกษาของตน อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าผลการศึกษานี้มีประโยชน์มาก ถ้าเรารู้จักนำไปใช้เป็นกรอบในการวางนโยบายการพัฒนาประเทศ ซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้วต่างก็ปรับตัวเองไปสู่การลด PM2.5 ขอขอบคุณผู้ศึกษาครับ

http://www.manager.co.th/Local/ViewNews ... 0000082775
แนบไฟล์
12.jpg
11.jpg
kiatisak
 
โพสต์: 1231
ลงทะเบียนเมื่อ: 16 ก.ย. 2011, 13:37







Re: มลพิษทางอากาศคร่าชีวิตคนไทย 2.2 หมื่นคนต่อปี : WHO

โพสต์โดย kiatisak » 16 ส.ค. 2017, 09:42

"กรีนพีซ" ตรวจพบฝุ่นขนาดเล็ก 2.5 PM เกินทั่วประเทศ

“ฝุ่นพิษ PM2.5 ร้ายกว่าปรอท หรือตะกั่วซึ่งมีสารพิษเพียงตัวเดียว PM2.5 เป็นสหสารพิษ และมีสารอิททรีย์ระเหยง่ายที่เป็นสารก่อมะเร็ง ปัญหาสำคัญคือประเทศไทยไม่มีการรวบรวมข้อมูลด้านมลพิษ ตั้งแต่ประเทศไทยให้สัตยาบันในอนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน เมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ.2548 จนถึงปัจจุบันนี้เรายังคงไม่รู้ว่ามีแหล่งปล่อยมลพิษในประเทศอยู่กี่แห่ง แล้วเราจะควบคุมได้อย่างไร”

ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการ ป้องกันและจัดการภัยพิบัติ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวเสริมว่า “ไทยยังไม่มีการกำหนดว่าสารพีเอเอชเป็นสารอันตราย ทั้งที่ประเทศอื่นกำหนดหมดแล้ว จากที่ได้ทำการวิจัยพบว่า สารพีเอเอชในมลพิษทางอากาศที่เชียงใหม่เทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ 906 มวน และในการตรวจสอบการกระจายตัวของพีเอเอชที่กรุงเทพฯพบว่ามีการกระจายตัวสูงสุดที่ดินแดง รองลงมาที่โชคชัยสี่ ตัวอนุภาค PM2.5 ไม่ใช่สารก่อมะเร็ง แต่สามารถนำพาสารก่อมะเร็งได้ อุปมาคือฝุ่นคือรถยนต์ สารก่อมะเร็งเป็นผู้ก่อการร้าย ยิ่งมีขนาดเล็กเท่าไร ยิ่งนำพาสารก่อมะเร็งไปได้ไกล”

https://youtu.be/swwMWEP-MU0
kiatisak
 
โพสต์: 1231
ลงทะเบียนเมื่อ: 16 ก.ย. 2011, 13:37


ย้อนกลับไปยัง คาปูชิโน

ผู้ใช้งานขณะนี้

cron
New Document