New Document









หนูเป็นทันตแพทย์ มีผู้ป่วยactive TBมาทำฟันโดยไม่แจ้งประวัติ

ข่าวสารสาธารณสุข

หนูเป็นทันตแพทย์ มีผู้ป่วยactive TBมาทำฟันโดยไม่แจ้งประวัติ

โพสต์โดย kiatisak » 04 เม.ย. 2017, 08:15

หนูเป็นทันตแพทย์แล้วมี ผู้ป่วยactive TBมาทำฟันโดยไม่แจ้งประวัติ แต่หนูไม่ได้เป็นผู้ให้การรักษา

แล้วทีนี้ทาง รพ. ได้จัดให้มีการคัดกรองTBเจ้าหน้าที่ห้องฟัน ผลAFBของหนู+1 แต่inadequateในครั้งแรก ส่วนฟิล์มดำไปอ่านผลไม่ได้. ตัวหนูจึงได้ไปขอรับการรักษาที่ รพศ ค่ะ ได้รับการตรวจ chest x-ray และส่งตรวจเสมหะใหม่ทั้งหมด ผลเอกซเรย์ปกติ ส่วนเสมหะ negative แต่ก้อ inadequate 5 วัน แพทย์เฉพาะทางจึงส่ง CT scan ผลปกติไม่พบรอยโรค อาการทางกายไม่มีใดๆเลย

อย่างนี้หนูมีโอกาสเป็น latent TBและต้องรับรักษาหรือ ทานยามั้ยคะมั้ยคะ แล้วก็มีโอกาสมั้ยคะว่าเชื้อที่ตรวจพบ ตรวจพบจริงๆแลปไม่พลาด แต่แค่เชื้อนี้ยังไม่สร้างรอยโรคจะเห็นใน CT ขอคำแนะนำด้วยค่า ตอนนี้กังวลว่าผู้ร่วมงานจะคิดว่าเราแพร่เชื้อ

คนที่เป็นวัณโรคแฝงทั่วๆไปแพทย์ไทยมักจะไม่ค้นหาหรือถึงหาเจอโดยบังเอิญก็มักจะไม่นิยมทำการรักษาครับ เป็นความไม่นิยมเฉยๆนะ ไม่มีหลักฐานรองรับว่าทำอย่างนี้ดีหรือไม่ดี ความไม่นิยมนี้เกิดจากหมอไทยถือเอาว่าคนไทยกับเชื้อวัณโรคนั้นเป็นเพื่อนกัน เนื่องจากเมืองไทยนี้เป็นแหล่งเพาะพันธ์และเผยแพร่เชื้อวัณโรค มีเชื้อวัณโรคอยู่ในอากาศทั่วไปแม้ตามศูนย์การค้าก็มีเพราะสถิติของสำนักระบาดวิทยาบอกว่าทุก 1500 คนจะมี 1 คนที่เป็นวัณโรค

งานวิจัยของศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐพบว่าเชื้อวัณโรคนี้เวลาผู้แพร่เชื้อไอออกมาทีเดียว เชื้อจะเกาะออกมากับอนุภาค (particle) ของเสมหะ ซึ่งมีขนาดเล็กมากระดับ 1-5 ไมครอน อันเป็นขนาดเล็กเสียจนเบาหวิวและลอยละล่องไปได้ไกลแสนไกล และอยู่ในอากาศได้นานแสนนาน ผ่านประตูห้อง วิ่งไปตามเฉลียง จากห้องนี้ ไปยังห้องโน้นไม่ลงจอดบนพื้นสักที ดังนั้นคนไทยส่วนใหญ่จึงต่างล้วนเคยได้รับเชื้อกันหมดแล้ว ที่รับเชื้อแล้วกลายเป็นวัณโรคแฝงก็คงจะมีจำนวนเยอะมาก ถ้าจับพวกเขากินยากันหมด จะเอายาที่ไหนมาให้กินละครับ

งานวิจัยของศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐฯพบว่าโอกาสแพร่กระจายเชื้อวัณโรคจะมีมากขึ้น ถ้า

(1) ในบรรยากาศมีความหนาแน่นของอนุภาคที่มีเชื้อโรคเกาะมาด้วยอยู่มาก
(2) ยิ่งคนป่วยไอหรือจามออกมาแรงโดยไม่ปิดปากหรือจมูก ยิ่งแพร่เชื้อได้มาก
(3) คนเป็นวัณโรคแล้วไม่รู้ว่าตัวเองเป็น หรือรู้ว่าเป็นแต่ไม่กินยา หรือกินยาแต่กินไม่ครบ ก็จะเป็นตัวแพร่เชื้อ
(4) มีการแหย่ให้ฟุ้ง (aerosolization) เช่นพยาบาลใส่สายดูดเสมหะลงคอ หรือหมอส่องกล้องตรวจหลอดลม
(5) เหตุเกิดในห้องแคบๆอับๆทึบๆ
(6) ระบบระบายอากาศของสถานที่แห่งนั้นไม่ดี ทำให้กลไกเจือจางอนุภาคไม่เวอร์ค

http://visitdrsant.blogspot.jp/2017/03/ ... st_16.html
kiatisak
 
โพสต์: 1231
ลงทะเบียนเมื่อ: 16 ก.ย. 2011, 13:37







Re: หนูเป็นทันตแพทย์ มีผู้ป่วยactive TBมาทำฟันโดยไม่แจ้งประว

โพสต์โดย kiatisak » 17 พ.ค. 2017, 09:26

ข้อมูลสถานการณ์โรคระบาด
กรมควบคุมโรค เร่งรัดควบคุมการแพร่เชื้อวัณโรคในโรงพยาบาล ชี้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข
มีความเสี่ยงต่อการป่วยเป็นวัณโรคสูงกว่าประชาชนทั่วไปถึง 3 เท่า

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เร่งดำเนินงานควบคุมการแพร่กระจายเชื้อวัณโรคในโรงพยาบาล พร้อมสนับสนุนให้มีการค้นหาวัณโรค ตรวจคัดกรองและป้องกันในบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลชุมชน และสถานพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศ โดยเน้นให้มีมาตรการลดความเสียงต่อการแพร่กระจาย และติดเชื้อวัณโรคเป็น 3 ระดับ ได้แก่ 1.การบริหารจัดการ 2.การควบคุมสิ่งแวดล้อม และ 3.การควบคุมป้องกันระดับบุคคล สอดรับวิสัยทัศน์กระทรวงสาธารณสุข ประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข ระบบสุขภาพยั่งยืน

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงปัญหาวัณโรคในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งมีความเสียงต่อการป่วยเป็นวัณโรคสูงกว่าประชาชนทั่วไปถึง 3 เท่า และอาจมีแนวโน้มสูงขึ้น และส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการปฏิบัติงานของบุคลากร ทั้งนี้ พบว่าผู้ป่วยวัณโรคมาใช้บริการที่สถานบริการเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้บุคลากรมีโอกาสสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วยที่มารับบริการในโรงพยาบาลได้ ซึ่งการแพร่กระจายของเชื้อวัณโรคในโรงพยาบาลอาจเกิดได้ใน 3 รูปแบบใหญ่ๆ คือ

จากผู้ป่วยวัณโรคสู่ผู้ป่วยอื่น

จากผู้ป่วยวัณโรคสู่บุคลากรทางการแพทย์ และ

จากบุคลากรทางการแพทย์แพร่กระจายสู่ผู้ป่วยและผู้ร่วมงาน ซึ่งการแพร่กระจายเชื้อวัณโรคในโรงพยาบาลอาจเกิดจากการวินิจฉัยล่าช้า และไม่ใช้เครื่องป้องกันในระหว่างการทำหัตถการที่มีความเสี่ยงต่อการสูดหายใจเอาเชื้อวัณโรคเข้าสู่ร่างกาย

กรมควบคุมโรค ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดดำเนินงานควบคุมการแพร่กระจายเชื้อวัณโรคในโรงพยาบาล โดยมีมาตรการ 3 ระดับ ได้แก่

1.เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ มาตรการควบคุมการแพร่เชื้อในโรงพยาบาล ประกอบด้วยการประเมินความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อ การอบรมบุคลากร เร่งรัดการค้นหาผู้ป่วยวัณโรค การจัดสถานทีในการให้บริการให้เหมาะสม การลดการสัมผัสเชื้อวัณโรคในห้องชันสูตร การรักษาแบบผู้ป่วยใน เป็นต้น

2.ควบคุมสภาพแวดล้อมให้ปราศจากเชื้อวัณโรคในอากาศ และ 3.การควบคุมป้องกันระดับบุคคล เน้นการป้องกันการติดเชื้อเฉพาะบุคคล เช่น ให้ผู้ป่วยสวมหน้ากากอนามัย และให้บุคลากรทีมีความเสี่ยงสูงใช้หน้ากาก N95 mask นอกจากนี้ ยังมีมาตรการในการเฝ้าระวังการติดเชื้อและป่วยเป็นวัณโรคในบุคลากรสาธารณสุข โดยบุคลากรทางการแพทย์ต้องมีการป้องกันตนเอง โดยต้องมีความรู้เกี่ยวกับวัณโรค ลักษณะการแพร่เชื้อและแนวทางป้องกัน และการตรวจเช็คสุขภาพก่อนเริ่มทำงานและระหว่างทำงานว่าเป็นวัณโรคหรือไม่

ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ได้ขอความร่วมมือโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลชุมชน และสถานพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศ ตรวจสุขภาพและคัดกรอง เพื่อค้นหาวัณโรค ตลอดจนโรคอื่นๆ ในบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่มีความเสี่ยง เพื่อประเมินภาวะสุขภาพของบุคลากร การค้นหาความผิดปกติ เป็นแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพ ให้มีสุขภาพที่ดี มีประสิทธิภาพสูงสุดในการให้บริการและเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ประชาชน ต่อไป หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422

*******************************************************129/60
ข้อมูลจาก : สํานักวัณโรค / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
โทรศัพท์ 0-2590-3857 วันที่ 10 พฤษภาคม 2560
สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ department of disease control
สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ
อาคาร 7 ชั้น 2 เลขที่ 88/21 ถนนติวานนท์ ตำบลตลาดขวัญ
อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี 11000
โทร. 02 590 3860-62 โทรสาร 02 590 3386
E-mail riskcomddc@gmail.com
kiatisak
 
โพสต์: 1231
ลงทะเบียนเมื่อ: 16 ก.ย. 2011, 13:37


ย้อนกลับไปยัง คาปูชิโน

ผู้ใช้งานขณะนี้

New Document