New Document









เชื้อแบคทีเรียในเครื่องปรับอากาศ

ข่าวสารสาธารณสุข

เชื้อแบคทีเรียในเครื่องปรับอากาศ

โพสต์โดย kiatisak » 15 ส.ค. 2014, 08:52

ปัจจุบันเครื่องปรับอากาศ นับเป็นเครื่อง อำนวยความสะดวก ที่มีความจำเป็นสำหรับผู้คนที่พักอาศัยในอาคาร ไม่ว่าจะเป็นตามสำนักงาน โรงแรม หรือโรงพยาบาล แต่ใครบ้างที่จะทราบว่าในเครื่องปรับอากาศ มีเชื้อโรคที่แอบแฝงอยู่ และก่อให้เกิดภัยเงียบกับสุขภาพผู้คน หากเราจะพูดถึง ’โรคลีเจียนแนร์ (Legionnaires disease)” เชื่อว่าส่วนใหญ่คงไม่รู้จัก หรือคุ้นกับชื่อนี้กันสักเท่าไร แม้จะพบเชื้อโรคนี้มานานกว่า 20 ปีแล้วก็ตาม แต่กลับมาโด่งดังอีกครั้งเมื่อปีที่ผ่านมา เนื่องจากนักวิชาการสาธารณสุขรายหนึ่ง เปิดเผยว่า “ฝรั่งกำลังผวาจากเชื้อโรคนี้ที่แฝงตัวอยู่ตามโรงแรมทั่วประเทศไทย” ถึงตรงนี้ เราคงอยากทราบว่าโรคนี้ มีที่มาที่ไป และรวมถึงมีอาการอย่างไร? ลองมาติดตามกัน

โรคลีเจียนแนร์ (Legionnaires disease)

เป็นโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจแบบเฉียบพลัน ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ชื่อว่า ลีจิโอเนลลา นิวโมฟิลา (Legionella pneumophila) ซึ่งพบได้ทุกภูมิภาคของโลก เชื้อโรคอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีความชื้นสูง และเจริญเติบโตได้ดีในน้ำที่มีอุณหภูมิ 25-50 oC พบในแหล่งน้ำธรรมชาติ และแหล่งน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้น ได้แก่ หอผึ่งเย็น (Cooling tower) เครื่องทำน้ำร้อน (Water heater tanks) ถาดรองน้ำจากเครื่องปรับอากาศ ก๊อกน้ำ ฝักบัวอาบน้ำ ถังเก็บน้ำสำรอง ในระบบการกระจายน้ำ (Water distribution system) เช่น ในอ่างน้ำพุ หรือน้ำพุประดับ สปริงเกอร์ รวมทั้งสปริงเกอร์ภายในระบบดับเพลิงตามอาคาร เครื่องพ่นความชื้น และเครื่องช่วยหายใจที่ใช้ตามโรงพยาบาล

การติดต่อของโรค

เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายโดยการสูดหายใจ เอาเชื้อโรคที่แพร่กระจายอยู่ในอากาศแวดล้อมเข้าไป (Air-borne) โรคนี้เกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปี แต่ยังไม่มีรายงานยืนยันการแพร่ระบาดจากคนไปสู่คน ระยะฟักตัวของโรคจะใช้เวลาประมาณ 2-10 วัน

อาการและอาการแสดง

ผู้ได้รับเชื้อเข้าไปบางรายจะไม่มีอาการใด ๆ ทั้งนี้ เนื่องจากมีสภาพร่างกายที่สมบูรณ์ แข็งแรง ส่วนบางรายที่สภาพร่างกายไม่แข็งแรง จะแสดงอาการของโรค ซึ่งมี 2 ลักษณะ โดยจะแสดงลักษณะอาการเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น คือ

1.อาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ เรียกว่า โรคไข้ปอนเตียก (Pontiac fever) ระยะฟักตัวสั้นประมาณ 1-2 วัน ผู้ป่วยจะเบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ ไข้สูง อาการไม่รุนแรง หายเองภายใน 2-5 วัน

2.อาการคล้ายปอดอักเสบ เรียกว่า โรคลีเจียนแนร์ ระยะฟักตัวทั่วไปประมาณ 2-10 วัน ผู้ป่วยมีไข้สูง ไอ ไม่มีเสมหะ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ หนาวสั่น อ่อนเพลีย อุจจาระร่วงและมีภาวะโซเดียมต่ำ หากเชื้อเข้าสู่ปอดจะเกิดภาวะปอดอักเสบชนิดรุนแรง ซึ่งอัตราตายของโรคลีเจียนแนร์ในผู้ป่วยที่รักษาตัวในโรงพยาบาลอาจสูงถึงร้อยละ 39

ภาวะโรคแทรกซ้อน

ผู้ป่วยอาจมีอาการทางระบบประสาท อาจพบการอักเสบและการติดเชื้อในอวัยวะต่าง ๆ เช่น เยื่อหุ้มหัวใจ ผนังหัวใจด้านใน โพรงไซนัส สมอง ไต หรือการติดเชื้อในกระแสเลือดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้สูงอายุ สำหรับผู้ป่วยที่เคยเป็นโรคนี้แล้วจะมีภูมิคุ้มกันโรค จึงไม่ค่อยพบการติดเชื้อซ้ำ

การวินิจฉัย

การวินิจฉัยโดยอาศัยผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ที่ใช้กันแพร่หลาย คือ การตรวจหาแอนติเจนของเชื้อในปัสสาวะ โดยวิธี Radio Immunoassay (RIA) ภาพรังสีทรวงอกมีการอักเสบ พบมีปื้นหรือจุดขาว ตั้งแต่วันที่ 3 ของโรค และพบมีสารน้ำในเยื่อหุ้มปอดร่วมด้วย ประมาณร้อยละ 24-63 อาจต้องใช้เวลาถึง 6 เดือน ก่อนที่ปื้นหรือจุดขาวนั้นจะหายไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค

การรักษา

ส่วนใหญ่มักจะไม่สามารถวินิจฉัยเชื้อก่อโรคได้ในระยะแรก การเลือกยาต้านจุลชีพที่ครอบคลุมเชื้อก่อโรคจึงน่าจะเป็นการรักษาหลัก โดยพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะที่ครอบคลุมเชื้อ ให้ยาทางหลอดเลือดนานจนอาการต่าง ๆ ดีขึ้น เปลี่ยนมาเป็นยารับประทานอีก 10-14 วัน ผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องระบบภูมิต้านทาน แพทย์จะพิจารณาให้ยานาน 21 วัน
ยาต้านจุลชีพที่ใช้ได้ผลกับเชื้อลีจิโอเนลลา ได้แก่ ยาในกลุ่มแมโครไลด์, กลุ่มฟลูโอโรควิโนโลน เป็นต้น

การป้องกันและควบคุมโรค

ในปี พ.ศ. 2543 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรวจพบแหล่งปนเปื้อนของเชื้อ Legionella จากห่อผึ่งเย็นและแหล่งน้ำที่ใช้ในอาคาร 57.5%, แหล่งน้ำธรรมชาติ 21.8% ดังนั้น กรมอนามัยจึงกำหนดมาตรการป้องกันและควบคุมโรค เพื่อดูแลความสะอาดของแหล่งน้ำต่าง ๆ ภายในอาคาร เช่น โรงแรม โรงพยาบาล ดังนี้

1.ระบบประปา
-น้ำประปาใช้ ควรมีการตรวจสอบปริมาณคลอรีนตกค้างของน้ำในบ่อพักทุกวัน ต้องมีระดับคลอรีน ไม่น้อยกว่า 0.2 ppm
-เก็บน้ำสำรองในบ่อพัก ต้องมีระดับคลอรีน ไม่น้อยกว่า 0.2 ppm เสมอ

2. ระบบน้ำร้อนรวม
-ต้องผลิตน้ำให้มีอุณหภูมิสูงกว่า 60oC ตลอดเวลา และน้ำส่งออกต้องมีอุณหภูมิสูง กว่า 50oC

3.ระบบปรับอากาศและระบายความร้อน ควรทำความสะอาด 1-2 ครั้ง ต่อเดือน
-ทำลายเชื้อโดยใส่คลอรีนให้มีความเข้มข้น 10 ppm เข้าในท่อที่ไปหอผึ่งเย็น 3-6 ชั่วโมง ให้ทั่วถึงทั้งระบบ
-ทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศ ทุก 1-2 สัปดาห์

4.อุปกรณ์ห้องน้ำในห้องพัก
-ทำความสะอาดหัวก๊อกน้ำ ฝักบัวแช่สารละลายคลอรีนเข้มข้น 10 ppm หรือแช่น้ำร้อน 65 oC ประมาณ 5 นาที

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก : นิตยสาร Modern Mom โดย : ศ.นพ.สุชัย เจริญรัตนกุล
แนบไฟล์
air2.gif
air2.gif (56.59 KiB) เปิดดู 2823 ครั้ง
air1.gif
air1.gif (68.95 KiB) เปิดดู 2823 ครั้ง
kiatisak
 
โพสต์: 1231
ลงทะเบียนเมื่อ: 16 ก.ย. 2011, 13:37







ย้อนกลับไปยัง คาปูชิโน

ผู้ใช้งานขณะนี้

New Document