New Document









รู้จัก "เมิร์ส" โรคจากเชื้อไวรัสที่มีภัยร้ายแรงกว่า "ซาร์ส"

ข่าวสารสาธารณสุข

รู้จัก "เมิร์ส" โรคจากเชื้อไวรัสที่มีภัยร้ายแรงกว่า "ซาร์ส"

โพสต์โดย kiatisak » 19 พ.ค. 2014, 10:29

ปิยมิตร ปัญญา: รู้จัก "เมิร์ส" โรคจากเชื้อไวรัสที่มีภัยร้ายแรงกว่า "ซาร์ส" 3 เท่าตัวตัว!
วันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 เวลา 21:00:52 น.
มติชนรายวัน 17 พฤษภาคม 2557

"เมิร์ส" คือชื่อเรียกสั้นๆ จากคำเรียกชื่อโรคเต็มๆ ว่า "โรคระบบทางเดินหายใจจากตะวันออกกลาง" (Middle East Respiratory Syndrome-MERS) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส ตระกูล โคโรนา ไวรัส เช่นเดียวกันกับเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรค "ซาร์ส" (โรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันร้ายแรง) บางครั้งจึงเรียกกันว่า "โคโรนา ไวรัส เมิร์ส" บางครั้งก็เรียกกันง่ายๆ ว่า "โรคคล้ายซาร์ส"

เมิร์ส เป็นโรคอุบัติใหม่ พบครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2012 ที่อัล อาห์ซา เมืองโอเอซิส กลางทะเลทรายทางตะวันออกของซาอุดีอาระเบีย ต่อมาในเดือนเมษายนปีเดียวกัน มีชายวัย 60 ปี รายหนึ่งเสียชีวิตลงที่โรงพยาบาลในเมืองเจดดาห์ ซาอุดีอาระเบีย ด้วยอาการของนิวมอเนียและไตวาย

ดร.อาลี โมฮัมเหม็ด ซากี นักไวรัสวิทยาชาวอียิปต์ นำตัวอย่างจากปอดของชายผู้นี้ไปเพาะเชื้อพิสูจน์ และพบไวรัสใหม่ที่ไม่เคยเป็นที่รู้จักกันมาก่อนในนั้น

โลกได้รู้จัก "เมิร์ส" มานับตั้งแต่บัดนั้น

เมิร์ส และ ซาร์ส เป็นไวรัสในกลุ่มโคโรนาเช่นเดียวกัน ดังนั้น ก่อให้เกิดอาการหลายๆ อย่างคล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการที่เกิดขึ้นในระบบทางเดินหายใจ คือมีไข้สูงเหมือนไข้หวัดใหญ่ ไอ หายหอบถี่

เมื่อไวรัสเมิร์สแพร่เข้าสู่ปอด สิ่งที่มันทำก็คือ ทำให้การทำหน้าที่ทั้งหมดของปอดหยุดชะงัก ผู้ป่วยจะทรุดหนักและแสดงอาการนิวมอเนียตามมา อาการรุนแรงชนิดจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเพื่อช่วยยังชีพภายในระยะเวลาสั้นๆ เพียง 12 วัน

สิ่งที่แตกต่างออกไปจากไวรัสซาร์ส และเป็นเหตุผลที่ทำให้ เมิร์ส มีอานุภาพในการทำลายชีวิตสูงกว่าก็คือ ไวรัสเมิร์ส สามารถแพร่และส่งผลทำลายการทำงานของอวัยวะภายในอื่นๆ นอกเหนือจากอวัยวะในระบบทางเดินหายใจด้วย ผู้ป่วยอาจแสดงอาการเกี่ยวเนื่องกับกระเพาะอาหารและลำไส้ อาทิ ท้องร่วงรุนแรง อาเจียน ที่หนักยิ่งกว่านั้นก็คือ มันเข้าไปทำลายการทำงานของไต ส่งผลให้เกิดสภาวะโลหิตเป็นพิษ หรือไตวาย ถึงเสียชีวิตได้อย่างเฉียบพลัน

แล้วก็ทำให้มันสามารถแพร่ระบาดได้จากของเสียที่ร่างกายของคนเราขับออกมา อาทิ อุจจาระ ปัสสาวะ ได้ด้วยเช่นเดียวกันกับการแพร่ระบาดทางอากาศ

จนถึงขณะนี้มีผู้ล้มป่วยด้วย โคโรนา ไวรัส เมิร์ส แล้วทั่วโลกมากกว่า 500 ราย 345 ราย ในจำนวนนั้นเป็นผู้ป่วยใน ซาอุดีอาระเบีย ประเทศที่เป็นแหล่งกำเนิด และแพร่ระบาดหนักที่สุดในเวลานี้ ในจำนวนกว่า 100 ราย ที่พบนอกซาอุดีอาระเบีย แทบทั้งหมดสามารถเชื่อมโยงกลับไปยังที่นั่นได้ทั้งหมด คือ หากไม่เคยทำงานอยู่ที่นั่นก็ต้องเคยเดินทางไปยังซาอุดีอาระเบียมา

เมื่อเปรียบเทียบอัตราการเสียชีวิตระหว่างเมิร์สกับซาร์ส พบว่าผู้ป่วยเมิร์สราว 27-31 เปอร์เซ็นต์ ถึงแก่ชีวิต ในขณะที่ซาร์ส ทำให้เสียชีวิตเพียง 8 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด

หรือพูดง่ายๆ ว่า "เมิร์ส" ร้ายแรงกว่า ซาร์ส ที่เคยเขย่าโลกมาเมื่อปี 2002-2003 ราว 3 เท่าตัวนั่นเอง!



จนถึงขณะนี้ มีประเทศซึ่งพบผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันแล้วว่า เป็นผู้ป่วยด้วยโรคเมิร์สรวม 17 ประเทศ สามารถจำแนกได้เป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกเป็นประเทศที่อยู่ในพื้นที่แพร่ระบาด คือในคาบสมุทรอาหรับ ประกอบด้วย ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรดส์ (ยูเออี) กาตาร์ โอมาน จอร์แดน คูเวต และเยเมน

อีกกลุ่มเป็นประเทศที่พบผู้ป่วยมีส่วนเชื่อมโยงกับการเดินทางไปยังประเทศกลุ่มแรก ประกอบด้วย สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส ตูนิเซีย อิตาลี มาเลเซีย ตุรกี กรีซ ฟิลิปปินส์ อียิปต์ และสหรัฐอเมริกา

ประเด็นที่น่าสนใจประการหนึ่งเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของเมิร์สในเวลานี้ก็คือ เมิร์ส ถูกพบครั้งแรกเมื่อ 2 ปีก่อน แต่ไม่ได้สร้างความกังวลในแง่ของโอกาสที่มันจะกลายเป็นโรคระบาดในระดับโลกมาตลอดทั้งปี 2013 ตราบจนกระทั่งจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างพรวดพราดจนผิดสังเกตนับตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา ในซาอุดีอาระเบีย

ตัวอย่างของการเพิ่มขึ้นอย่างพรวดพราดดังกล่าวนี้ เห็นได้ชัดในช่วงระหว่างวันที่ 15-21 เมษายนที่ผ่านมา ที่มีผู้ป่วยเมิร์สเพิ่มมากขึ้นถึง 49 ราย

ยิ่งไปกว่านั้น สถิติแสดงให้เห็นว่า ระหว่างวันที่ 20 มีนาคม จนกระทั่งถึงวันที่ 26 เมษายน 29 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยและเสียชีวิตด้วยเมิร์ส ล้วนแต่เป็นบรรดาผู้ที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องอยู่ในสถานพยาบาล

ดร.อลา อัลวาน ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคอีสเทิร์น เมดิเตอเรเนียน บอกในเวลาไล่เลี่ยกันนั่นเองว่า ราวๆ 75 เปอร์เซ็นต์ ของรายงานการพบผู้ป่วยเมิร์สในระยะหลัง จัดได้ว่าเป็น "เซคคันดารี เคส" คือผู้ที่ติดเชื้อจากผู้ป่วยเมิร์สรายอื่นๆ

"ส่วนใหญ่ของเคสผู้ติดเชื้อชั้นที่สองนี้ ได้รับเชื้อจากภายในสถานรักษาพยาบาล ที่เป็นหลักคือผู้ที่เคยทำหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วย แต่ก็มีไม่น้อยที่ไปโรงพยาบาลเพื่อรักษาโรคอื่น แต่กลับได้รับเชื้อเมิร์สจากที่นั่น" ดร.อัลวานระบุ

เครดิตระบบสาธารณสุขของของซาอุดีอาระเบียสะเทือนอย่างหนัก ลงเอยด้วยคำสั่งปลด อับดุลลาห์ อัล ราบีอาห์ พ้นตำแหน่งรัฐมนตรีสาธารณสุข เมื่อ 21 เมษายนที่ผ่านมา มอบหมายให้ อัลเดล ฟาคคีห์ รัฐมนตรีแรงงาน มารับตำแหน่งควบอีกตำแหน่ง

แต่นั่นยังไม่ใช่คำตอบของคำถามสำคัญที่ว่า ไวรัสเมิร์ส กลายพันธุ์แล้วใช่หรือไม่ ถึงได้ติดต่อง่ายขึ้นและแพร่ระบาดรวดเร็วขึ้นเช่นนั้น?



ในวันที่ 26 เมษายน ทีมผู้เชี่ยวชาญของห้องปฏิบัติการในเยอรมนี นำเอาเชื้อไวรัสที่ได้จากผู้ป่วย 3 รายในกลุ่มของผู้ป่วยใหม่ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วไปตรวจวิเคราะห์เชิงพันธุกรรมจนแล้วเสร็จ สามารถยืนยันได้อย่างชัดเจนว่า องค์ประกอบทางพันธุกรรมของเชื้อเหล่านั้น ไม่ได้มีอะไรแตกต่างจากไวรัสเมิร์สที่เคยระบาดก่อนหน้านี้

ถ้าอย่างนั้นแล้ว เพราะเหตุใด เมิร์ส ถึงได้มาระบาดหนักเอาตอนนี้?

คำถามนี้หาคำตอบได้ไม่ง่ายนัก ด้วยข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่ว่า ซาอุดีอาระเบีย ขาดแคลนทั้งบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเหล่านี้ และขาดแคลนทั้งประสบการณ์ในการรับมือกับ "การแพร่ระบาด" พร้อมกันไปด้วย

มีความพยายามให้ความช่วยเหลือจากต่างประเทศอยู่เช่นเดียวกัน แต่นักวิทยาศาสตร์ นักไวรัสวิทยาที่พยายามช่วยเหลือต่างพากันผิดหวังไปตามๆ กัน เพราะซาอุฯไม่มี "ข้อมูล" ที่จำเป็นในการให้ความช่วยเหลือดังกล่าวให้

ตัวอย่างเช่น ไม่มีการเก็บข้อมูลเรื่องอาชีพของผู้ป่วย ไม่มีบันทึกรายละเอียดของการเดินทางของผู้ติดเชื้อก่อนหน้าการติดเชื้อ ไม่มีรายละเอียดของการสัมผัส "พาหะ" ต้องสงสัย ฯลฯ พูดง่ายๆ ว่า ซาอุดีอาระเบียทำสิ่งที่เรียกกันว่า การสอบสวนโรคน้อยมาก หรือแทบไม่มีเลยก็ว่าได้

ผลก็คือข่าวลือในทางเสียๆ หายๆ สะพัดไปทั่วประเทศ อาทิ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขไม่มีขีดความสามารถเพียงพอ หรือทางการพยายามปกปิด เรื่อยไปจนถึงการละเลยบันทึกการรักษา หายหกตกหล่น ฯลฯ

ก่อนหน้านี้ระหว่างปี 2002-2003 หลายฝ่ายเคยกล่าวหาจีนว่าปกปิดข้อมูล ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับซาร์ส จนแทบทำให้สายเกินการ คราวนี้ทุกฝ่าย แม้องค์การอนามัยโลกเองก็เผชิญกับอุปสรรคอีกอย่าง นั่นคือความไม่รู้ ไม่มีข้อมูล

ปัญหาก็คือในกรณีอย่างนี้ ทั้งการปกปิดและความไม่รู้ มักลงเอยด้วยผลลัพธ์อย่างเดียวกัน!



ในกรณีของโรคซาร์ส ต้นตอของการแพร่ระบาด หรือ "พาหะปฐมภูมิ" ของโรคคือ ค้างคาวผลไม้ชนิดหนึ่งในจีน ที่สามารถรับเชื้อไว้ในร่างกายของมันได้โดยไม่แสดงอาการ จากนั้นมันแพร่ระบาดต่อให้กับ "ชะมด" ผ่านตลาดค้าสัตว์ป่าเป็นแห่งหนึ่งที่กว่างโจว จากชะมดไวรัสซาร์สระบาดสู่คนผ่านทางภัตตาคาร "อาหารพิสดาร" แห่งหนึ่ง ซึ่งเสิร์ฟเนื้อชะมดเป็นอาหารขึ้นชื่อ

นักวิทยาศาสตร์มีหลักฐานมากเพียงพอที่จะสรุปว่า "พาหะปฐมภูมิ" หรือ "ไพรมารี โฮสต์" ของเมิร์ส ก็เป็นค้างคาวเช่นเดียวกัน แต่เป็นค้างคาวผลไม้อีกพันธุ์ที่เรียกกันว่า "ค้างคาวสุสานอียิปต์" (Egypt tomb bat)

ต้นเดือนเมษายนปีนี้ ทีมวิจัยผสมหลากหลายชาติทีมหนึ่งตีพิมพ์ผลงานการศึกษาวิจัยเรื่องนี้ออกเผยแพร่ สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ว่า แหล่งกำเนิดโรคเมิร์ส คือ อัล อาห์ซา โอเอซิส ทางตะวันออกของประเทศที่เป็นแหล่งปลูกอินทผลัมสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในตะวันออกกลาง

อินทผลัม (Date Palm) คือสถานที่สร้างรังของค้างคาวสุสานอียิปต์ครับ

จากรังบนยอดสุดของต้นอินทผลัม ไวรัส เมิร์ส ในตัวค้างคาว ระบาดสู่คนได้ในสองทาง ทางแรกที่ก่อให้เกิดการระบาด กระจัดกระจายและมีจำนวนน้อย แต่ก็มีกรณียืนยันได้หลายกรณี ก็คือ เชื้อไวรัสจากค้างคาวผ่านเข้าสู่ "อูฐ" ด้วยวิธีการประการหนึ่งประการใดที่ยังไม่เป็นที่แน่ชัด จากนั้นจึงผ่านสู่คนโดยวิธีการสัมผัสตัวอูฐติดเชื้อ หรือเข้าไปใกล้ชิดในโรงเลี้ยง หรือดื่มน้ำนมอูฐที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไปโดยตรง

ผู้แสวงบุญชาวมาเลเซียที่เสียชีวิตลงเพราะเมิร์สรายหนึ่ง เดินทางไปเยี่ยมชมฟาร์มอูฐแห่งหนึ่ง ขณะจาริกแสวงบุญยังซาอุดีอาระเบีย ทั้งยังดื่มนมอูฐเข้าไปด้วยก่อนล้มป่วยด้วยโรคนี้

สัปดาห์สุดท้ายของเดือนมีนาคมที่ผ่านมา พ่อค้าปศุสัตว์จากอาบูดาบี (ยูเออี) รายหนึ่งป่วยด้วยเมิร์ส หลังเยี่ยมชมฟาร์มอูฐเช่นกัน ผู้ป่วยชาวซาอุฯ ผู้หนึ่งถูกเก็บตัวอย่างเชื้อไปตรวจสอบพบว่า พันธุกรรมของเชื้อไวรัสเมิร์สในตัวเขาตรงกันเป๊ะกับพันธุกรรมของไวรัสเมิร์สในอูฐเลี้ยงของเจ้าตัว

ที่สำคัญก็คือ มีการเก็บตัวอย่างนมอูฐไปตรวจสอบ พบว่ามีตัวอย่างเป็นจำนวนมากปนเปื้อนเชื้อไวรัสเมิร์ส!



ทางที่สองที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสเมิร์สในตัวค้างคาวสุสานมาสู่คน เป็นการแพร่ระบาดโดยตรงจากค้างคาวสู่คน ผ่านทางมูลและฉี่ หรือของเสียหรือเมือกอื่นๆ ที่ขับออกมาจากตัวมันสู่คน ซึ่งในที่นี้คือคนงานที่รับผิดชอบในการทำสวนผลไม้ที่เป็นอุตสาหกรรมสำคัญของซาอุดีอาระเบียนี้

คนงานซึ่งส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดเป็นแรงงานนำเข้าจากต่างประเทศ

อินทผลัม เป็นไม้สวนที่จำเป็นต้องดูแลอย่างดี เพื่อให้ได้ผลผลิตสูงสุด เมื่อถึงฤดูกาลออกดอกคนงานสวนจะต้องไต่เดียะขึ้นไปตามต้นของมันทุกต้น เพื่อทำหน้าที่ผสมเกสรตัวผู้เข้ากับเกสรตัวเมีย ให้ได้ครบถ้วนเพื่อให้ติดผลมากที่สุดเท่าที่สามารถจะทำได้

น่าสนใจอย่างยิ่งที่ฤดูกาลผสมเกสรของคนงานสวนอินทผลัมที่อัล อาห์ซา เริ่มต้นตั้งแต่ปลายมีนาคมเรื่อยมาจนถึงเมษายนนี้นี่เอง ในขณะที่เมษาและพฤษภา คือฤดูกาลผสมพันธุ์ของค้างคาวชนิดนี้ ลูกตัวน้อยๆ ของมันจะลืมตาดูโลกในราวเดือนมิถุนายน

นี่คือเหตุผลหนึ่งที่สันนิษฐานกันว่า เป็นเหตุให้จำนวนผู้ป่วยเมิร์สในซาอุดีอาระเบียเพิ่มขึ้นอย่างพรวดพราดในเดือนที่ผ่านมา ข้อกังขาก็คือว่า แล้วอย่างนั้น ทำไมเมษาปีที่แล้วถึงไม่เกิดกรณีเดียวกันนี้ขึ้น?

คำตอบก็คือ เมื่อปีที่แล้ว ทางการซาอุดีอาระเบียเพิ่งผ่านกฎหมายแรงงานใหม่ที่เข้มงวดกว่าเดิมออกมาบังคับใช้ ที่ส่งผลให้แรงงานต่างชาติเป็นเรือนหมื่นต้องถูกเด้งออกนอกประเทศ แรงงานภาคเกษตรกรรมได้รับผลกระทบมากที่สุด อินทผลัมปีที่ผ่านมาน้อยกว่าปกติและแพงกว่าปกติมาก จนต้องผ่อนเป็นครั้งๆ ครั้งละ 30 วันกันในตอนนี้

ในเดือนมิถุนายน คนงานสวนจะได้สัมผัสกับอินทผลัมตั้งแต่โคนจนถึงยอดสุดอีกครั้ง ตอนนั้น ดอกที่ติดเป็นผลจะโตเต็มที่คนงานจะต้องขึ้นไปจัดการไล่ทั้งค้างคาวและศัตรูพืชอื่นๆ พร้อมกับครอบพวงอินทผลัมด้วยตาข่ายป้องกัน ก่อนที่จะต้องปีนขึ้นไปเพื่อเก็บเกี่ยวผลกันอีกครั้งในหน้าร้อน

ถ้าข้อสันนิษฐานนี้ไม่ผิด และยังไม่มีมาตรการคุ้มกันใดๆ เมิร์สจะระบาดอีกครั้งในสองช่วงเวลานั้น!



เมื่อมีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีสาธารณสุขนั้น แบบแผนการรับมือกับเมิร์สก็เปลี่ยนตามไปด้วย ผู้ป่วยเมิร์สทั่วประเทศได้รับคำสั่งให้เคลื่อนย้ายสู่โรงพยาบาลคิง ซาอุด ทางตอนเหนือของนครเจดดาห์ เพื่อดูแลผู้ป่วยภายใต้สภาวะควบคุมการติดเชื้อเข้มงวดทั้งหมด

ก่อนหน้านั้น สถานการณ์ในโรงพยาบาลหลายๆ แห่งเป็นเหมือนฝันร้ายของทุกคน ไม่เว้นกระทั่งหมอและพยาบาล

เมื่อ 1 เมษายน ที่โรงพยาบาล คิง ฟาฮัด ในเจดดาห์เช่นเดียวกัน แพทย์ 1 พยาบาลอีก 6 คน ล้มป่วยด้วยเมิร์ส สร้างความโกลาหลไปทั่วโรงพยาบาล สาหัสถึงขั้นแพทย์และพยาบาลบางคนยื่นใบลาออก!

ทั้งหมดสะท้อนการขาดความชำนาญการ ขาดองค์ความรู้และประสบการณ์อย่างเด่นชัด ทางการยังยืนยันใน "มาตรฐานสากล" ของโรงพยาบาลในวันที่ 15 เมษายน แต่อีก 6 วันให้หลังจำนวนผู้ป่วยเฉพาะในเจดดาห์เพิ่มขึ้นอีก 49 ราย แทบทั้งหมดติดเชื้อจากคนสู่คนทั้งสิ้น

ตัวอย่างความไร้เดียงสาของผู้เชี่ยวชาญซาอุดีอาระเบียก็คือ การยืนกรานว่า เพียงแค่สวมหน้ากากปิดปากปิดจมูก ก็ป้องกันเมิร์สได้ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ข้อเท็จจริงก็คือ เมิร์ส แพร่ได้แม้การสัมผัสมือ สัมผัสพื้นผิวที่เปื้อนเชื้อ ผ่านสเตรทโตสโคป กระทั่งถุงมือยาง

เจ้าหน้าที่สถานพยาบาลที่ผ่าน "สงครามซาร์ส" มาล้วนซาบซึ้งเรื่องนี้เป็นอย่างดี

ที่เวียดนาม ซาร์ส ไม่หยุดระบาดจนกระทั่ง ผู้ป่วยทั้งหมดถูกย้ายออกจากโรงพยาบาลหรู "เฟรนซ์ ฮอสพิทัล" ติดแอร์ทั้งหลัง ไปอยู่โรงพยาบาล บัคมาย เก่าๆ สมัยสงคราม หน้าต่างเปิดโล่ง มีเพียงพัดลมเพดานระบายอากาศเท่านั้น

แต่ไม่มีสภาพอากาศปิดให้เป็นแหล่งบ่มเพาะเชื้ออีกต่อไป!



คําถามสุดท้ายที่ต้องถามกันก็คือ "เมิร์ส" มีโอกาสระบาดไปทั่วโลกเหมือน "ซาร์ส" หรือไม่ ? คำตอบเมื่อเทียบเคียงซาอุดีอาระเบียเข้ากับจีนแล้วก็คือ มี มีไม่น้อยเลยทีเดียว

โอกาสอาจน้อยลงกว่านี้ถ้าซาอุดีอาระเบีย เป็นประเทศยากจนสักประเทศในแอฟริกา หรือละติน แต่นี่คือประเทศมั่งคั่ง มีการติดต่อไปมาหาสู่ มีคนงานต่างชาติเข้าไปทำงานอยู่มากมายจากหลากหลายประเทศ ทั้งยังมีเมกกะ...

ปัญหาก็คือ ทำอย่างไรถึงจะจำกัดไม่ให้การระบาดเกิดขึ้นใน 31 ประเทศ มีผู้ป่วยกว่า 8,000 รายเหมือนในกรณีของซาร์ส

อย่าลืมว่า "เมิร์ส" ร้ายแรงกว่า ซาร์ส อย่างน้อย 3 เท่าตัวนะครับ!


http://www.matichon.co.th/news_detail.p ... catid=0200
kiatisak
 
โพสต์: 1231
ลงทะเบียนเมื่อ: 16 ก.ย. 2011, 13:37







Re: รู้จัก "เมิร์ส" โรคจากเชื้อไวรัสที่มีภัยร้ายแรงกว่า "ซาร

โพสต์โดย kiatisak » 04 ก.ค. 2014, 08:25

สธ.ฟิลิปปินส์ผวา'เมอร์ส'ระบาดในตะวันออกกลาง แนะมุสลิมทบทวนไปฮัจญ์
โฆษกกระทรวงสาธารณสุขฟิลิปปินส์ แถลงว่า ชาวมุสลิมประมาณ 6,500 คน ที่มีกำหนดจะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ที่ซาอุดีอาระเบีย ในเดือนตุลาคมนี้ ได้รับการร้องขอจากทางการให้ทบทวนแผนการเดินทางดังกล่าว โดยอาจเดินทางไปในปีหน้าแทน เนื่องจากขณะนี้ไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ตะวันออกกลาง หรือ เมอร์ส กำลังระบาดในซาอุดีอาระเบีย ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 284 คน

http://www.manager.co.th/Home/ViewNews. ... 0000075093
kiatisak
 
โพสต์: 1231
ลงทะเบียนเมื่อ: 16 ก.ย. 2011, 13:37

Re: รู้จัก "เมิร์ส" โรคจากเชื้อไวรัสที่มีภัยร้ายแรงกว่า "ซาร

โพสต์โดย kiatisak » 15 ก.ค. 2014, 10:08

ข่าว / โลก
WHO เตือนว่าการระบาดของโรค MERS ในตะวันออกกลางยังน่าเป็นห่วง
________________________________________

14.07.2014
WHO เตือนผู้ที่จะเดินทางไปแสวงบุญที่เมืองเมกกะในช่วงเดือนรอมฎอนให้ป้องกันตนเองจากการติดเชื้อโรค MERSที่กำลังระบาดในตะวันออกกลาง

มีจำนวนคนที่ยืนยันว่าป่วยด้วยโรค MERS เเล้ว 800 กว่าคนและราว 280 กว่าคนเสียชีวิตจากโรคนี้

คณะกรรมการฉุกเฉินแห่งองค์การอนามัยโลกที่ได้ทำการเฝ้าระวังการระบาดของโรคชี้ว่าการระบาดรุนแรงในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาได้เริ่มลดความรุนแรงลงอย่างมากและประเทศในตะวันออกกลางได้ปรับปรุงงานป้องกันการติดเชื้อเเละการควบคุมโรคให้เข้มเเข็งขึ้น นอกจากนี้ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าโรคนี้สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้

Dr. Keiji Fukuda รองเลขาธิการด้าน Health Security แห่งองค์การอนามัยโลกกล่าวว่าหลังจากพิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดของโรคในพื้นที่เเล้ว ทางคณะกรรมการฉุกเฉินแห่งองค์การอนามัยโลกยังไม่ประกาศให้การระบาดของโรคนี้ในตะวันออกกลางเป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขในระดับนานาชาติ ผู้เชี่ยวชาญตั้งข้อสงสัยว่าเชื้อไวรัส corona ที่เป็นสาเหตุของโรค MERS ติดต่อจากอูฐสู่คนอย่างไรก็ตาม ยังไม่มีใครรู้ชัดเจนว่าการแพร่เชื้อไวรัสชนิดนี้จากอูฐสู่คนเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่มีความเป็นห่วงว่าสถานีอนามัยและโรงพยาบาลอาจจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อหากไม่มีมาตราการป้องกันการติดเชื้อ

Dr. Fukuda รองเลขาธิการด้าน Health Security แห่งองค์การอนามัยโลกกล่าวว่าเท่าเข้าใจว่าจำนวนคนป่วยที่เพิ่มมากขึ้นอย่างมากในเดือนเมษายนได้รับเชื้อในโรงพยาบาล ทำให้องค์การอนามัยโลกเห็นว่าการเเพร่เชื้อเกิดจากขาดมาตรการป้องกันการติดเชื้อและการควบคุมโรคที่มีมาตราฐานเพียงพอในโรงพยาบาล คนป่วยหลายคนที่ทีเเรกเข้าใจว่าติดเชื้อจากในชุมชน เเต่จริงๆเเล้งกลับได้รับเชื้อไวรัสในโรงพยาบาล จะมีการวิเคราะห์ปัญหาการเเพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโรค MERS ในโรงพยาบาลกันต่อไป ผู้ป่วยจะนั่งปนอยู่กับคนอื่นๆในจุดรอพบเเพทย์ที่แออัดไม่ว่าจะเป็นห้องฉุกเฉินหรือแผนกฉุกเฉิน ก่อนที่จะได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยด้วยโรคอะไร ทำให้การเเพร่เชื้อเกิดขึ้นเพราะไม่มีมาตรการป้องกันและควบคุมที่เพียงพอ

คณะกรรมการฉุกเฉินแห่งองค์การอนามัยโลกยังเดินหน้าแนะนำให้ประเทศต่างๆในตะวันออกกลางเพิ่มมาตรการป้องกันการเเพร่เชื้อและการควบคุมโรคขั้นพื้นฐานและเพิ่มการให้ความรู้เกี่ยวกับโรค MERS แก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุข องค์การอนามัยโลกยังเเนะนำด้วยว่าจำเป็นต้องมีการศึกษาวิเคราะห์เชิงลึกเร่งด่วนที่สุดเท่าที่จะทำได้ เกี่ยวกับการควบคุมโรค โดยต้องศึกษาทั้งตัวอย่างเลือดของผู้ป่วย สภาพเเวดล้อมตลอดจนการวิเคราะห์โรคนี้ในอูฐด้วย

Dr. Fukuda แห่งองค์การอนามัยโลกเรียกร้องให้ประเทศต่างๆที่เสี่ยงต่อการระบาดของโรค MERS โดยเฉพาะประเทศในทวีปอาฟริกา เตรียมตัวรับมือกับการระบาดของโรคนี้ในปลายปีนี้ มีปัจจัยสำคัญสองประการที่จะส่งผลต่อการเเพร่ระบาดของโรคนี้ในภูมิภาค ประการเเรก มีคนจากทวีปอาฟริกาจำนวนมากที่เดินทางไปยังประเทศซาอุดิอารเบียและตะวันออกกลางทุกปีเพื่อเข้าร่วมพิธีฮัจจ์หรือด้วยเหตุผลส่วนตัว และปัจจัยที่สองที่ทำให้ทวีปอาฟริกาเสี่ยงต่อการระบาดของโรค MERS เกิดจากการขาดเเคลนระบบเฝ้าระวังการติดต่อโรคและมาตรการป้องกันควบคุมโรคในสถานพยาบาลที่ได้มาตราฐาน จำเป็นมากที่ต้องสร้างความตื่นตัวเกี่ยวกับการระบาดของโรคนี้เเก่ชาวมุสลิมที่จะเดินทางไปแสวงบุญที่เมืองเมกกะ เพื่อให้คนเหล่านี้ระมัดระวังและรักษาความสะอาดส่วนตนให้มากขึ้นเพื่อป้องกันการติดเชื้อ เขากล่าวว่ามีรายงานว่าทางการซาอุดิอาเบียได้เพิ่มความเข้มข้นของมาตรการเฝ้าระวังโรคและการป้องกันการเเพร่ระบาดก่อนหน้าพิธีฮัจจ์


http://www.voathai.com/content/who-and- ... 56769.html
แนบไฟล์
who,mers.jpg
kiatisak
 
โพสต์: 1231
ลงทะเบียนเมื่อ: 16 ก.ย. 2011, 13:37


ย้อนกลับไปยัง คาปูชิโน

ผู้ใช้งานขณะนี้

New Document