New Document









แพทย์แนะเฝ้าระวัง “โคโรน่าไวรัส 2012” ระบาดใน 13 ประเทศ ตายแ

ข่าวสารสาธารณสุข

แพทย์แนะเฝ้าระวัง “โคโรน่าไวรัส 2012” ระบาดใน 13 ประเทศ ตายแ

โพสต์โดย kiatisak » 24 เม.ย. 2014, 14:25

แพทย์แนะเฝ้าระวัง “โคโรน่าไวรัส 2012”
โรคติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลัน
ระบาดใน 13 ประเทศ ตายแล้ว 93 ราย

ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เตรียมการเฝ้าระวังตามที่กระทรวงสาธารณสุขสั่งคุมทุกจังหวัดเฝ้าระวัง “โคโรน่าไวรัส 2012” อย่างใกล้ชิด ระดับเท่าการควบคุมโรคซาร์ส หลังพบการระบาดในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศซาอุดีอาระเบีย โดยองค์การอนามัยโลกรายงาน เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 พบผู้ป่วยยืนยัน 243 ราย เสียชีวิต 93 ราย คิดเป็นอัตราการป่วยตาย ร้อยละ 38.27

นายแพทย์ พลากร ศรีนิธิวัฒน์ อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เผยว่า ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2012 หรือ เมิร์สคอฟ (Middle East Respiratory Syndrome Coronavirus : MERS-CoV) เป็นไวรัสสายพันธุ์หนึ่งในกลุ่มโคโรน่าไวรัส เรียกว่า novel coronavirus : nCoV เพิ่งค้นพบในปี พ.ศ.2555 แม้ขณะนี้ยังไม่พบผู้ป่วยในประเทศไทย แต่พบผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องใน 13 ประเทศ ได้แก่ จอร์แดน ซาอุดิอาระเบีย กาตาร์ อังกฤษ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฝรั่งเศส ตูนีเซีย เยอรมนี อิตาลี โอมาน คูเวต มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ โดยพบผู้ป่วยมากที่สุดในซาอุดีอาระเบีย โดยผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่าไวรัสสายพันธุ์ดังกล่าวเกิดมาจากสัตว์ เช่น อูฐ, ค้างคาว

ในเขตพื้นที่รับผิดชอบด้านการเฝ้าระวังโรคของศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทานฯ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของจังหวัดนนทบุรี นับว่ามีความเสี่ยงสูงเพราะมีประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลามอยู่เป็นจำนวนมาก ในเบื้องต้นขอให้ประชาชนสังเกตอาการหากมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ คือมีไข้สูง ไอ ถ่ายเหลว อาเจียน โดยในทารกที่มีอาการรุนแรงอาจมีลักษณะของปอดอักเสบ หรือหลอดลมฝอยอักเสบ ในเด็กโตอาจมีอาการของหอบหืด ส่วนในผู้ใหญ่อาจพบลักษณะปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบเรื้อรัง หรือการกลับเป็นซ้ำของโรคหอบหืดได้และอาจทำให้เกิดอาการรุนแรงได้มากในผู้สูงอายุหรือผู้ที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง และควรเฝ้าระวังเป็นพิเศษหากมีประวัติเดินทางกลับจากประเทศที่พบผู้ป่วย หรือเป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากประเทศที่พบผู้ป่วย หรือเป็นชาวไทยมุสลิมที่จะเดินทางไปร่วมพิธีฮัจจ์ประจำปี 2557

เนื่องจากไวรัสโคโรน่า 2012 สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้หลายกลุ่มในวงจำกัด โดยพบในบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ดูแลผู้ป่วย สมาชิกในครอบครัวเดียวกัน และในขณะนี้ยังไม่มีการแพร่กระจายของเชื้อวงกว้างในชุมชน โคโรน่าไวรัสเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลันหรือระบบอื่นๆ ในคนและสัตว์ เช่น หนู ไก่ วัว ควาย สุนัข แมว กระต่าย และสุกร มีอาการรุนแรงคล้ายโรคซาร์ส เชื้อจะลุกลามเข้าปอดอย่างรวดเร็ว ติดต่อได้ง่ายจากการไอจาม โดยผู้ที่มีอัตราความเสี่ยงสูงที่จะติดโรคคือผู้ที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคไต สำหรับการป้องกันการติดเชื้อใช้มาตรการการป้องกันพื้นฐานทั่วไป ได้แก่ หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับสัตว์ที่มีอาการป่วย หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการไอหรือจาม รักษาสุขอนามัยขั้นพื้นฐานส่วนบุคคล โดยเฉพาะการล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำสบู่ โดยเฉพาะเมื่อสัมผัสกับสารคัดหลั่งจากผู้ป่วย ก่อนรับประทานอาหารและหลังขับถ่าย เปลี่ยนชุดป้องกันรวมถึงรองเท้าบูททุกครั้งหลังการสัมผัสสัตว์ ไม่นําสัตว์ที่ป่วยไปประกอบอาหาร การบริโภคผลิตภัณฑ์ดิบจากสัตว์ เช่น นม และเนื้อสัตว์ มีความเสี่ยงสูงที่จะทําให้เกิดการติดเชื้อ

การตรวจคัดกรองผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงติดเชื้อโคโรน่าไวรัสทำได้โดยการซักประวัติอย่างละเอียด หากผู้ป่วยได้เดินทางกลับมาจากประเทศแถบตะวันออกกลาง และมีอาการไข้ร่วมกับอาการติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจเฉียบพลัน (Severe Acute Respiratory Infection : SARI) ควรคำนึงถึงว่าอาจติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2012 หรือ เมิร์สคอฟ MERS-CoV การตรวจทางห้องปฏิบัติการทำได้โดย 1. เอกซเรย์ปอด (Chest imaging เช่น x-ray or CT scan) ลักษณะปอดอักเสบอาจพบภาพฉายรังสีไม่แตกต่างจากภาวะปอดอักเสบโรคอื่น 2. การเก็บสิ่งส่งตรวจเพื่อหาเชื้อสาเหตุ ควรเก็บทั้ง Nasopharyngeal swab และตัวอย่างที่มีจากทางเดินหายใจส่วนล่างด้วย เช่นBronchoalveolar lavage, Bronchial wash, or Tracheal aspirate เป็นต้น โดยส่งตรวจโดยใช้ Reverse transcription polymerase chain reaction (RT-PCR) โดยส่งตรวจได้ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทุกแห่ง หรือกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

การรักษาในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาเฉพาะ เช่น ยาต้านไวรัส เนื่องจากโรค MERS-CoV เป็นโรคอุบัติใหม่ ข้อมูลการใช้ยาต้านไวรัสมีค่อนข้างจำกัด เช่นเดียวกับวัคซีนป้องกันโรคยังไม่สามารถผลิตได้ ณ ปัจจุบัน ดังนั้นการรักษาส่วนใหญ่จึงให้การรักษาตามอาการเป็นหลัก รวมทั้งรักษาประคับประคองโดยเฉพาะด้านระบบหายใจ ให้การช่วยเหลือภาวะขาดออกซิเจน และติดตามอาการผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด

http://www.oknation.net/blog/arthonprku ... 23/entry-1
kiatisak
 
โพสต์: 1231
ลงทะเบียนเมื่อ: 16 ก.ย. 2011, 13:37







ย้อนกลับไปยัง คาปูชิโน

ผู้ใช้งานขณะนี้

New Document