วันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2556 ปีที่ 23 ฉบับที่ 8175 ข่าวสดรายวัน
จากซาร์สถึงH7N9 โลกจับตาจีนรับศึกใหม่
สกู๊ปพิเศษ
1.ผู้ป่วยไข้หวัดนกในห้องไอซียู
2.ทีมแพทย์ตรวจหาเชื้อ H7N9 จากไก่
3.ตำรวจจีนเข้ารื้อเพิงขายไก่
หากใครเดินทางไปฮ่องกงในช่วงสัปดาห์ก่อน น่าจะพอรู้สึกถึงบรรยากาศผวาต่อไข้หวัดนก สายพันธุ์ H7N9 ที่กำลังระบาดในประเทศจีน
ข่าวทีวีรายงานความคืบหน้าของการระบาดชั่วโมงต่อชั่วโมง ซึ่งก็ล้วนแต่เป็นข่าวร้าย เพราะจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้วยอัตราเฉลี่ยวันละ 4-5 คน โดยในขณะนี้มีผู้ป่วยอย่างน้อย 60 คนแล้ว
ขณะที่ร้านขายยาบางแห่งเริ่มขายสมุน ไพรที่อ้างว่าเป็นวัคซีนกันเชื้อไข้หวัดนก
ชาวฮ่องกงจำนวนหนึ่งบ่นอุบว่า ได้แต่นับถอยหลังรอหายนะในอนาคตเท่านั้น เพราะหลายคนเชื่อว่าทางการจีนจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้จริง และการระบาดก็จะลุกลามมาถึงเขตปกครองพิเศษแห่งนี้ในที่สุด
ดังเช่นกรณีโรคซาร์ส (SARS) ที่แพร่กระจายจากจีน ไปยังฮ่องกง สิงคโปร์ และอีกหลายประเทศ เมื่อ 10 ปีที่แล้ว
รัฐบาลจีนเคยถูกวิจารณ์จากหลายฝ่าย เพราะสั่งปิดลับข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับการระบาดของโรคซาร์ส แทนที่จะเปิดเผย-แลกเปลี่ยนข้อมูลกับบรรดาองค์การด้านการแพทย์ระหว่างประเทศ
เสียงวิจารณ์ในลักษณะนี้ก็เริ่มกลับมาอีกครั้ง โดยเฉพาะหลังมีรายงานว่า เหยื่อรายแรกของไข้หวัดนก H7N9 เสียชีวิตตั้งแต่วันที่ 19 ก.พ. แต่ทางการจีนเพิ่งเปิดเผยข่าวในวันที่ 31 มี.ค. นี้นี่เอง!
ยังไม่แน่ชัดว่าเหตุใดรัฐบาลจีนรอถึงเกือบ 1 เดือนก่อนจะประกาศข่าวร้ายดังกล่าว แต่หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อเดือนก.พ. เป็นช่วงการแต่งตั้ง สี จิ้นผิง ขึ้นเป็นผู้นำคนใหม่ และพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้โหมกระแสโฆษณาชวนเชื่ออย่างเต็มอัตราศึก จึงเชื่อได้ว่าไม่ต้องการให้มีข่าวร้ายมาแทรกนั่นเอง
นิวยอร์กไทมส์ รายงานว่า จนถึงทุกวันนี้ รัฐบาลจีนยังไม่เผยข้อมูลที่แน่ชัดเกี่ยวกับการระบาดของไข้หวัดนกในประเทศ ฟาร์มหรือพื้นที่ใดที่เป็นต้นตอ บอกแต่เพียงว่าได้ฆ่าสัตว์ปีกและปิดตลาดในจุดเสี่ยงหลายแห่ง แต่ตามจริงแล้ว สายพันธุ์ H7N9 มีความแตกต่างจากสายพันธุ์อื่นๆ ตรงที่ สัตว์ปีกที่ติดเชื้อจะแสดงอาการไม่มาก
ดังนั้น หากจะมุ่งกำจัดสัตว์ที่ป่วยอย่างเดียว ก็อาจทำให้กลุ่มสัตว์ที่ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ หลุดรอดจากการตรวจสอบไปได้
ส่วนการตรวจสอบหาเชื้อไข้หวัดนก ก็อาจทำได้ยากขึ้น เพราะทางการจีนมักแจกวัคซีนราคาถูกให้แก่เกษตรกร ซึ่งวัคซีนเหล่านี้แก้ปัญหาระยะสั้นได้ แต่ในระยะยาวอาจทำให้เชื้อกลายพันธุ์ และทำให้ผลการตรวจเชื้อออกมาผิดพลาดได้
ด้าน ดิ อิโคโนมิสต์ รายงานตอกย้ำว่า หน่วยงานท้องถิ่นของจีนบางแห่งมีกฎระเบียบต้องขออนุญาตจากเบื้องบนก่อนที่จะ รายงานหรือเปิดเผยข่าวเกี่ยวกับภัยพิบัติ อย่างโรคซาร์ส หรือไข้หวัดนก
เป็นที่รู้กันดีว่า การปิดบังข่าวภัยพิบัติต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดผล กระทบทางเศรษฐกิจ หรือความปั่นป่วน เป็นพฤติกรรมที่ทางการจีนมักชอบใช้ แต่สุดท้ายก็มักลงเอยด้วยผลลัพธ์ที่ร้ายแรงยิ่งกว่าเดิมเสมอ
แม้แต่สื่อทางการจีนจำนวนหนึ่งก็เริ่มเรียกร้องให้บรรดาหน่วยงานราชการมีควา มโปร่งใสมากขึ้น ดีกว่าหมักหมมปัญหาไว้จนบานปลายในที่สุด
ถึงแม้การระบาดของไข้หวัดนกระลอกล่าสุด จะยังไม่ร้ายแรงเหมือนกับโรคซาร์ส เพราะการระบาดยังเป็นการติดเชื้อระหว่างสัตว์สู่คน ไม่ใช่คนสู่คน แต่ผู้เชี่ยวชาญก็เตือนว่าสายพันธุ์ H7N9 มีลักษณะเสี่ยงกลายพันธุ์ได้อย่างพลิกผัน จึงอาจเกิดวิกฤตการติดเชื้อแบบคนสู่คนได้ในอนาคต
สิ่งที่น่าสนใจคือ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สังคมจีนได้เปลี่ยนแปลงไปมาก ปัจจุบันมีเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่เฟื่องฟูขึ้น โดยเฉพาะเว็บไซต์เว่ยป๋อ ที่แม้ยังถูกจำกัดอยู่มาก แต่ก็เป็นเวทีแสดงความไม่พอใจต่อทางการจีนได้มากขึ้น
หากทางการจีนไม่สามารถแก้ไขวิกฤตไข้หวัดนกครั้งนี้ได้ทันท่วงที ก็อาจกลายเป็นเชื้อไฟให้เกิดกระแสต่อต้านรัฐบาลได้เช่นกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่คณะปกครองจีนพยายามหลีกเลี่ยงมาตลอด
จึงเชื่อได้ว่า คณะผู้นำชุดใหม่ของจีน ไม่ต้องการวิกฤตซ้ำรอยประวัติศาสตร์ ในโอกาสครบรอบ 10 ปีของวิกฤตซาร์สนี้อย่างแน่นอน