New Document









อยากให้ลองอ่านข่าวนี้ PL law ที่เรากังวล

อยากให้ลองอ่านข่าวนี้ PL law ที่เรากังวล

โพสต์โดย paopong » 18 ธ.ค. 2008, 11:29

ไปเห็นข่าวนี้แล้ว เราเองก็ต้องระวังกันด้วย

จาก http://www.manager.co.th/Crime/ViewNews ... 0000148216



ศาลสั่ง ?กรมขนส่งทางอากาศ? จ่าย ?เจิมศักดิ์? 5 หมื่นเสี่ยงภัยนั่ง ?นกแอร์?

เปิดฉากคดีแรก พ.ร.บ.วิธีพิจารณาความผู้บริโภค ศาลแพ่งพิพากษา ?กรมการขนส่งทางอากาศ ? จ่าย 5 หมื่นชดใช้ ?เจิมศักดิ์? ค่าความหวาดกลัวต่อการเสี่ยงภัย หลังใช้สิทธิยื่นฟ้องที่สนามบินนครศรีธรรมราชบกพร่องไม่ตั้งเครื่องตรวจค้นวัตถุระเบิดและโลหะผู้โดยสารก่อนขึ้นเครื่อง ส่วน ?นกแอร์? ให้ยกฟ้องไม่ต้องร่วมรับผิด ชี้มีหน้าที่แค่เตรียมเครื่องบินให้บริการ

วันนี้ (17 ธ.ค.) เมื่อเวลา 09.30 น.ที่ห้องพิจารณาคดี 416 ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก ศาลออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาคดี หมายเลขดำ ผบ.1/2551 ที่นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีต ส.ว.เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด และกรมการขนส่งทางอากาศ (ขอ.) ซึ่งเป็นผู้บริหารจัดการสนามบินนครศรีธรรมราช จำเลยที่ 1-2 เรื่องละเมิด ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาความผู้บริโภค พ.ศ.2551 กรณีที่ไม่ได้จัดให้มีเครื่องตรวจวัตถุระเบิดและโลหะหนัก เพื่อตรวจค้นตัวผู้โดยสารที่จะขึ้นเครื่องสนามบินจังหวัดนครศรีธรรมราช ในเที่ยวบินสายการบินนกแอร์ ที่ DD 7811 วันที่ 16 ส.ค.51 ซึ่งโจทก์เป็นผู้หนึ่งที่ใช้บริการดังกล่าวเดินทางจากจังหวัดนครศรีธรรมราช มายังกรุงเทพฯ โดยเมื่อโจทก์สอบถามเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ขอยืมเครื่องตรวจวัตถุระเบิดไป และยังไม่ได้นำมาคืนในวันดังกล่าว โจทก์จึงขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสองจัดให้มีการตรวจจับวัตถุระเบิดและโลหะกับผู้โดยสารทุกคนอย่างเคร่งครัดในทุกๆ สนามบิน หากขาดเครื่องมือตรวจจับวัตถุระเบิดและโลหะจะต้องยุติการให้บริการจนกว่ามาตรการความปลอดภัย และเครื่องมือตรวจจับวัตถุระเบิดและโลหะจะทำงานอย่างครบถ้วน และขอให้จำเลยทั้งสอง ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายต่อโจทก์ต่อความเสี่ยงภัยที่จะต้องได้รับอันตรายต่อชีวิตและร่างกาย โดยคำนวณเป็นค่าขาดรายได้โจทก์ จำนวน 4.5 ล้านบาท และค่าที่ภรรยาโจทก์จะต้องขาดไร้อุปการะ 1 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 5.5 ล้านบาท

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานที่ 2 ฝ่ายนำสืบแล้ว ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 เนื่องจากเห็นว่าตามกฎหมายให้จำเลยที่ 2 ซึ่งต้องดูแลสนามบินในฐานะหน่วยงานของรัฐ และผู้ประกอบการให้บริการท่าอากาศยาน เป็นผู้ดูแลและจัดเตรียมความพร้อมต่อการรักษาความปลอดภัยสนามบิน ซึ่งถือเป็นเรื่องความมั่นคงของประเทศ ขณะที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเอกชนผู้ให้บริการสายการบิน มีหน้าที่ดูแลให้ความสะดวกต่อผู้ใช้บริการในการบินโดยมีหน้าที่ต้องเตรียมเครื่องบินให้พร้อมบริการเท่านั้น ดังนั้นจึงมีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายต่อโจทก์ ที่ต้องเกิดความวิตกกังวลว่าจะตกอยู่ในภาวะเสี่ยงภัย เป็นเงิน 50,000 บาท ที่บกพร่องไม่นำเครื่องตรวจวัตถุระเบิดฯ มาติดทันทีเมื่อได้รับคืนจาก ม.วลัยลักษณ์ ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงจากทางนำสืบว่า หลังจากมหาวิทยาลัยยืมเครื่องตรวจวัตถุระเบิดไปใช้ดูแลความปลอดภัยในงานวันรับปริญญาบัตรแล้วได้ส่งคืนเมื่อวันที่ 15 ส.ค.51 แต่เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ยังทิ้งเวลาไว้อีกจึงนำเครื่องมาติดตั้งในวันที่ 17 ส.ค.51 ส่วนคำขอที่ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันจัดให้มีการตรวจจับวัตถุระเบิดและโลหะกับผู้โดยสารทุกคนอย่างเคร่งครัดในทุกๆสนามบิน นั้น เมื่อศาลวินิจฉัยแล้ว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่ดำเนินการ ขณะที่ทางนำสืบไม่ปรากฏว่าสนามบินแห่งอื่นได้พบข้อบกพร่องเช่นเดียวกันนี้ จึงมีให้ยกคำขอดังกล่าว

ภายหลัง นายเจิมศักดิ์ กล่าวว่า รู้สึกพอใจต่อผลคำพิพากษาที่จะเป็นบรรทัดฐานให้สนามบินต้องดูแลเข้มงวดเรื่องการดูแลความปลอดภัยเพื่อเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ อย่างไรก็ดี ตนยังติดใจกรณีของสายการบินนกแอร์ที่เห็นว่าควรต้องร่วมรับผิดชอบต่อผู้ใช้บริการสายการบินในฐานะผู้บริโภคที่จ่ายค่าตั๋วให้บริษัท นกแอร์ฯ แล้ว บริษัทได้นำเงินส่วนหนึ่งจ่ายให้กรมการขนส่งที่ใช้บริการสนามบินด้วย ซึ่งในต่างประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาที่ตนเคยใช้บริการ พบว่า นอกจากสนามบินจะต้องดูแลเรื่องความปลอดภัยแล้ว สายการบินเองยังมีจ้างบริษัทรักษาความปลอดภัยตรวจผู้โดยสารก่อนจะขึ้นเครื่องด้วย ดังนั้น ตนจะพิจารณาและหารือกับมูลนิธิผู้บริโภคว่าควรจะอุทธรณ์ในประเด็นที่ต้องการให้สายการบินนกแอร์ ร่วมรับผิดชอบในการจัดอุปกรณ์ตรวจวัตถุระเบิดเพื่อดูแลความปลอดภัยผู้ใช้บริการหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อต้องการให้เป็นบรรทัดฐานสำหรับสายการบินต่างๆ ด้วย โดยการยื่นฟ้องไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องเงินค่าเสียหาย แต่ตนต้องการให้ทั้งสายการบิน และสนามบินดูแลเรื่องความปลอดภัย

นายเจิมศักดิ์ ยังกล่าวถึงการยื่นฟ้องคดีของผู้บริโภค ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาความผู้บริโภค ด้วยว่า เมื่อผู้บริโภคมีช่องทางตามกฎหมายที่จะรักษาสิทธิแล้ว ก็น่าจะใช้สิทธิตามกฎหมาย โดยกฎหมายนี้ในการยื่นฟ้องผู้บริโภค ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใดๆ และการพิจารณาคดีใช้เวลาไม่นาน ตัวอย่างคดีของตนศาลใช้เวลาเพียง 4 เดือนเท่านั้น ขณะที่เมื่อฟ้องคดีแล้วจะเป็นภาระของฝ่ายผู้ประกอบการที่จะต้องนำสืบพยานหลักฐาน โดยการนำสืบนั้นศาลยังสามารถที่จะเรียกพยานมาไต่สวนได้เองด้วย ดังนั้น กฎหมายนี้จึงสร้างความสะดวกและเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคอย่างยิ่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีนี้นายเจิมศักดิ์ได้ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งเมื่อวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นคดีแรกที่ยื่นฟ้องตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาความผู้บริโภค พ.ศ.2551 หลังจากกฎหมายฉบับนี้ เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 23 ส.ค.51 โดยการฟังคำพิพากษาวันนี้ฝ่ายบริษัท นกแอร์ฯ และกรมการขนส่งทางอากาศ ได้มอบอำนาจให้ตัวแทนเดินทางมาศาล
ภาพประจำตัวสมาชิก
paopong
 
โพสต์: 323
ลงทะเบียนเมื่อ: 28 พ.ค. 2006, 18:14
ที่อยู่: 182/28 ถ.ศรีจันทร์ อ.เมือง จ.ขอนแก่น 40000







Re: อยากให้ลองอ่านข่าวนี้ PL law ที่เรากังวล

โพสต์โดย apotheker » 18 ธ.ค. 2008, 13:10

ปิดร้านแล้ว ไปเดินสายฟ้องร้านยาที่ขายยาโดยไม่มีเภสัชกรตามเวลาที่ระบุไว้ดีไหม ได้สักร้านละหมื่นก็รวยแล้ว M18
รูปภาพ
ภาพประจำตัวสมาชิก
apotheker
Global Moderator
 
โพสต์: 2435
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.พ. 2004, 11:48
ที่อยู่: simcity

Re: อยากให้ลองอ่านข่าวนี้ PL law ที่เรากังวล

โพสต์โดย paopong » 22 ธ.ค. 2008, 20:37

มาปั่นกระทู้



รู้ทันคดีผู้บริโภค บทเรียนที่ผู้บริโภคต้องอ่าน ผู้ประกอบการควรรู้
โดย ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง 22 ธันวาคม 2551 08:59 น.


โดยปกติ ผู้บริโภคมักจะถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบการที่มีอำนาจผู้ขาดในการผลิตสินค้าและบริการ เช่น กิจการสาธารณูปโภค ไฟฟ้า น้ำประปา โทรศัพท์ สถานีขนส่ง สนามบิน สายการบิน ฯลฯ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกิจการที่ต้องอาศัยความรู้ความสามารถเฉพาะ เช่น กิจการแพทย์ คอมพิวเตอร์ เครื่องสำอาง รถยนต์ เครื่องจักรเครื่องยนต์กลไกที่มีความซับซ้อน ฯลฯ ผู้ผลิตและผู้ประกอบการก็ยิ่งได้เปรียบผู้บริโภค เพราะหากผลิตสินค้าหรือให้บริการที่ไม่มีคุณภาพ บกพร่อง ผิดพลาดในประการใดๆ ฝ่ายผู้ผลิตผู้ประกอบการก็อ้างความถูกต้องชอบธรรมในเรื่องที่ผู้บริโภคยากจะหยั่งรู้ และเป็นเรื่องยากลำบากแสนสาหัสสำหรับผู้บริโภคหากต้องการจะต่อสู้ เพื่อรักษาสิทธิและความเป็นธรรม

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2551 ที่ผ่านมา ผมเดินทางจากนครศรีธรรมราช จะกลับเข้ากรุงเทพฯ โดยสายการบินนกแอร์ ไปขึ้นเครื่องบินที่สนามบินนครศรีธรรมราช

ผมไปถึงสนามบินนครศรีธรรมราช เวลาประมาณ 4 โมงเย็น เข้าไปเช็คตั๋วโดยสาร ส่งกระเป๋าสัมภาระให้เจ้าหน้าที่นำเข้าเครื่องเอ็กซเรย์ตรวจอาวุธและวัตถุระเบิด เสร็จแล้วก็เดินเข้าห้องผู้โดยสารขาออก แต่แล้ว เมื่อสำรวจจิตตัวเองพบว่า รู้สึกแปลกๆ เหมือนเคยทำอะไรแล้วไม่ได้ทำ ด้วยความที่เป็นคนเดินทางโดยเครื่องบินบ่อย ใช้บริการสายการบินและสนามบินต่างๆ อยู่เป็นประจำ และเคยเป็นบอร์ดของการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) จึงทราบและตระหนักถึงความสำคัญของระบบดูแลตรวจตราความปลอดภัยจากการก่อวินาศกรรมเครื่องบิน ผมก็เลยเดินกลับไปดูบริเวณทางเข้าห้องผู้โดยสารขาออก

พบว่า เครื่องสแกนหรือตรวจตัวผู้โดยสาร ทั้งแบบที่เดินผ่านและแบบแผ่น ที่ใช้สำรวจไปตามร่างกายของผู้โดยสาร ไม่มีอยู่บริเวณปากประตูเข้าห้องผู้โดยสาร ซึ่งเป็นด่านสุดท้ายที่จะออกไปขึ้นเครื่องบิน

เดินไปถามเจ้าหน้าที่ ได้ความว่า สนามบินให้มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ขอยืมเครื่องตรวจระเบิดไปใช้งาน ก็เลยไม่ได้ตรวจตัวผู้โดยสาร !

ไม่มีการตรวจตัวผู้โดยสาร ก่อนขึ้นเครื่อง !

ผมยอมรับว่า ตกใจ จึงอดไม่ได้ที่จะท้วงติง ต่อว่า ว่าการละเลยเช่นนี้ไม่ดีเอาเสียเลย ทำให้เกิดความเสี่ยงภัย และอาจจะเกิดเหตุร้ายกับผู้โดยสารเครื่องบินทั้งหมดก็ได้ หากมีผู้ร้ายซุกระเบิดหรืออาวุธขึ้นเครื่องบิน จี้เครื่องบิน หรือทำเรื่องร้ายๆ แล้วจะทำอย่างไร

ผมมาทราบเมื่ออยู่บนเครื่องบินแล้ว ว่าเที่ยวบินนี้ มีผู้โดยสารเต็มลำ ถึง 150 คน ยิ่งรู้สึกวุ่นวายใจ เพราะทุกคนต้องมาเสี่ยงภัยบนอากาศ และไม่มีใครรู้ว่า ใครเป็นผู้ร้ายแฝงตัวนำอาวุธหรือระเบิดติดตัวขึ้นเครื่องบินมาด้วยหรือไม่

ก่อนหน้านั้น เคยมีเหตุเหตุระเบิดที่สนามบินหาดใหญ่ ทั้งสนามบินและสายการบิน จึงน่าจะเคร่งครัดเรื่องการตรวจตราเพื่อป้องกันรักษามาตรฐานความปลอดภัยที่เข้มงวดกว่านี้ ไม่ใช่ปล่อยปละละเลยให้เกิดความเสี่ยงเยี่ยงนี้ โดยที่พนักงานนกแอร์ ที่ใส่ชุดเหลืองทั้งชุด ยืนอยู่ในห้องผู้โดยสารขาออก ก็รู้และเห็นชัดเจนว่า ไม่มีเครื่องตรวจอาวุธและวัตถุระเบิด และไม่มีการตรวจตัวผู้โดยสารก่อนขึ้นเครื่องบิน แต่ก็ไม่มีใครสนใจที่จะแก้ไขความบกพร่อง ปล่อยให้ผู้โดยสารทุกคนขึ้นไปเสี่ยงชีวิตด้วยกันแบบนี้

ในความรู้สึกของผม การเดินทางเที่ยวนี้ ช่างยาวนานกว่าปกติ เต็มไปด้วยความอึดอัด ตึงเครียด และหากเกิดเหตุร้ายขึ้น ผมคงไม่มีโอกาสนำสิ่งเหล่านี้ และที่กำลังจะเล่าต่อไปนี้ มาถ่ายทอดให้ใครฟังเป็นแน่แท้

ขึ้นศาลคุ้มครองผู้บริโภค

วันที่ 25 สิงหาคม 2551 ผมนำเรื่องดังกล่าว ไปฟ้องร้องต่อศาลแพ่งรัชดา ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาความผู้บริโภค พ.ศ.2551 (เพิ่งมีผลบังคับใช้ 23 สิงหาคม 2551) และในตอนบ่ายวันนั้น ศาลก็ได้ขึ้นบัลลังก์ไต่สวนเพื่อคุ้มครองอย่างฉุกเฉิน

ปรากฏว่า วันรุ่งขึ้น 26 สิงหาคม 2551 ศาลมีคำสั่งคุ้มครองฉุกเฉิน ให้สนามบินนครศรีธรรมราชต้องตรวจตรา และมีเครื่องมือตรวจวัตถุระเบิดและโลหะให้ครบครัน มิเช่นนั้น ห้ามนำเครื่องบินขึ้นอย่างเด็ดขาด

และในวันที่ 17 ธันวาคม 2551 (3 เดือนเศษ นับจากวันฟ้อง) ศาลแพ่งรัชดา ก็มีคำพิพากษา ให้กรมขนส่งทางอากาศ ซึ่งเป็นผู้ดูแลสนามบินนครศรีธรรมราช ต้องจ่ายเงินชดเชย 50,000 บาท ฐานย่อหย่อนต่อการปฏิบัติหน้าที่ งดเว้นการกระทำให้เกิดความปลอดภัยในการให้บริการ ล่วงละเมิดสิทธิของผู้โดยสารที่จะได้เดินทางด้วยความมั่นใจในความปลอดภัย

คดีนี้ เป็นคดีประวัติศาสตร์ เพราะเป็นคดีแรกที่ใช้วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคแบบใหม่

1) ผม (ผู้บริโภค) สามารถฟ้องคดีด้วยวาจาก็ได้ เป็นหนังสือก็ได้ หากผู้บริโภคฟ้องด้วยวาจา ศาลก็จะให้พนักงานคดีบันทึกรายละเอียด เรื่องเป็นอย่างไร ที่มาที่ไปอย่างไร ได้รับผลกระทบอย่างไร พอจะมีหลักฐานอะไรติดมาบ้าง ฯลฯ หลังจากบันทึกแล้ว ผู้บริโภคอ่านดู จนพอใจ จึงลงลายมือชื่อกำกับว่าเป็นคำร้องของเรา (วันนั้น ผมก็ฟ้องด้วยวาจา)

2) ผมไม่ต้องจ่ายค่าฤชา ค่าธรรมเนียมการฟ้องเลยสักบาทเดียว เพราะเราไม่ได้เรียกค่าเสียหายเกินควร

3) ผมไปฟ้องศาลช่วงเช้า ช่วงบ่ายศาลเปิดบังลังก์ไต่สวนฉุกเฉินทันที ตามคำร้องคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา โดยให้สนามบินนครศรีธรรมราช จัดการดูแลเรื่องความปลอดภัยตามมาตรฐานอย่างเคร่งครัด หากไม่มีเครื่องตรวจอาวุธ วัตถุระเบิด ก็ห้ามให้เครื่องบินขึ้น

ผมได้เรียนรู้ด้วยว่า หากเป็นกรณีที่ผู้บริโภคได้รับความเสียหายจากสินค้า เช่น รถยนต์ เครื่องจักร คอมพิวเตอร์ เครื่องสำอาง ฯลฯ ศาลอาจสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้เปลี่ยนสินค้าใหม่ หรือห้ามจำหน่ายสินค้าที่เหลือทันที หรือให้ทำลายสินค้าที่อันตราย เป็นต้น

4) ผมไม่จำเป็นต้องมีทนายความ แต่ใครอยากจะมีก็ได้

5) ก่อนเริ่มการพิจารณาไต่สวนคดี ศาลมีระบบไกล่เกลี่ย โดยให้คู่ความเจรจาตกลงกัน หากตกลงกันได้ทั้งสองฝ่าย ก็จะได้ข้อยุติร่วมกัน

กรณีคดีที่ผมฟ้องร้อง ศาลท่านก็แนะนำให้คู่ความ คือ ผม (ผู้ฟ้อง) และสายการบินนกแอร์ กับกรมขนส่งทางอากาศ (ผู้ถูกฟ้อง) ลองเจรจาความกันดู โดยชี้แนะอย่างมีเหตุมีผลในทำนองว่า เท่าที่ดูจากคำร้อง ก็เห็นว่าอาจารย์เจิมศักดิ์มีเจตนาเพื่อให้มีระบบการดูแลความปลอดภัยของผู้โดยสารที่มีมาตรฐานและเข้มงวดเรื่องความปลอดภัย และทางสายการบินนกแอร์และกรมขนส่งทางอากาศก็ยอมรับว่าย่อหย่อนผิดพลาดไปแล้ว หากจะให้ผู้ใหญ่มาพูดคุยกับอาจารย์เจิมศักดิ์ เพื่อรับปากว่าจะไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก ก็น่าจะเป็นประโยชน์ ผมเกรงใจ เคารพ และเห็นประโยชน์ในคำแนะนำของศาลอย่างมาก แต่ในใจคิดว่า หากผมยอมความ แม้ตนเองจะได้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวเอง แต่ผู้โดยสารคนอื่นๆ เล่า และในเมื่อยังไม่มีบรรทัดฐานหรือมาตรฐานใดๆ ที่ออกมาเป็นการบังคับหรือเป็นทางการ เหตุการณ์ในทำนองนี้ ก็ยังมีโอกาสจะยังเกิดกับผู้โดยสารรายอื่นๆ ต่อไปได้ ใช่หรือไม่ ด้วยเหตุนี้ ผมจึงขอใช้สิทธิที่จะให้มีการพิจารณาไต่สวนดำเนินคดีตามกฎหมาย เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานต่อไป

6) ศาลใช้ระบบวิธีไต่สวน คือ ศาลสามารถรวบรวมพยาน หลักฐาน และซักถามพยานได้ ไม่เหมือนกับการพิจารณาคดีแพ่งทั่วไป ที่ใช้ระบบกล่าวหา ที่โจกท์ต้องแสวงหาพยาน หลักฐาน นำสืบเองทั้งหมด
ระบบไต่สวนนี้ โจกท์สามารถเสนอให้ศาลพิจารณาเรียกพยานหลักฐาน เช่น เรียกเทปบันทึกภาพโทรทัศน์วงจรปิดภายในสนามบินในเวลาดังกล่าวเพื่อให้เห็นว่าไม่มีการตรวจระเบิดที่ตัวผู้โดยสารอย่างไร หรือขอให้เรียกหนังสือจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ว่าได้ส่งคืนเครื่องตรวจระเบิดและอาวุธเมื่อใด จึงได้พบว่าทางมหาวิทยาลัยฯ ได้ส่งคืนเครื่องดังกล่าวแล้ว ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2551 แต่กลับเอาไปติดตั้งวันที่ 17 สิงหาคม 2551 ช้าไปถึง 2 วัน (ผมเดินทางเย็นวันที่ 16 สิงหาคม 2551 จึงไม่มีการใช้) เป็นต้น

7) ภาระการพิสูจน์ เป็นของผู้ประกอบการที่มีข้อมูลดีกว่าผู้บริโภค

ต่างจากแต่เดิมตามกฎหมายเก่า ผู้บริโภคต้องเป็นภาระในการพิสูจน์ว่าสินค้าหรือบริการไม่ดี มีอันตราย ทำให้ผู้บริโภคต้องประสบกับปัญหาในการพิสูจน์มาก เพราะสินค้าบางอย่างเช่น คอมพิวเตอร์ รถยนต์ เครื่องสำอาง จะต้องพิสูจน์ด้วยผู้เชี่ยวชาญ ห้องทดลอง และเครื่องมือต่างๆ ซึ่งใช้เวลาและค่าใช้จ่ายมาก จึงเคยมีผู้บริโภคทุบรถยนต์ประจานและประชด แทนการฟ้องร้องต่อศาล

แต่ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค กำหนดให้การพิสูจน์เป็นภาระของผู้ประกอบการ ที่ต้องพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าสินค้าและบริการของตนเองดีอย่างไร

8) แม้ผู้บริโภคอย่างผม จะไม่ได้แต่งทนาย แต่เราก็มีสิทธิที่จะซักถามพยานฝ่ายจำเลยได้

ยังจำได้ว่า เมื่อบริษัทนกแอร์นำกัปตันคนหนึ่งมาเป็นพยาน ผมได้ซักถามว่า ถ้าวันนั้นกัปตันเป็นคนขับเครื่องบิน เมื่อรู้ว่าไม่มีการตรวจตัวผู้โดยสารจะนำเครื่องบินขึ้นท้องฟ้าไหม ? กัปตันท่านนั้นตอบว่า เอาเครื่องขึ้น เพราะการตรวจความปลอดภัยเป็นหน้าที่ของสนามบินไม่ใช่ของสายการบิน

ผมจึงถามต่อไปว่า แล้ว ?กัปตันที่มีมาตรฐานดีๆ? เขาจะนำเครื่องขึ้นบินไหม ? ท่านก็หันมาตอบว่า ผมนี่แหละกัปตันมาตรฐานดี ! ผมเลยบอกกลับไปว่าผมไม่ได้ถามว่า ตัวพยาน(กัปตันคนนี้)มีมาตรฐานดีไหม แต่ถามว่ากัปตันที่มีมาตรฐานดีทั่วไปเขาจะนำเครื่องขึ้นเสี่ยงภัยไหม ? ท่านก็ยืนยันว่าเอาเครื่องขึ้น !

9) กฎหมายฉบับนี้ คุ้มครองผู้บริโภคคนอื่นๆ ทุกคนที่ถูกละเมิด เสียหายจากการกระทำของผู้ประกอบการรายเดียวกัน สินค้าหรือบริการล็อตเดียวกัน หากผู้บริโภคคนอื่นฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย เมื่อคดีถึงที่สิ้นสุดแล้ว ศาลจะถือว่าข้อเท็จจริงยุติเช่นเดียวกับคดีก่อน

พูดง่ายๆว่า หากคดีผมถึงที่สิ้นสุดแล้ว ผู้โดยสารคนอื่นๆ อีก 149 คนที่โดยสารเครื่องบินเดียวกันในวันนั้น ก็สามารถฟ้อง และศาลอาจนำผลการพิจารณาข้อเท็จจริงที่ตัดสินแล้ว มาพิจารณาให้ผู้โดยสารที่เหลือได้

นอกจากนี้ บางกรณีหากศาลพิจารณาเห็นว่า เป็นกรณีร้ายแรง ค่าเสียหายที่ผู้ฟ้องเรียกมายังน้อยไป อาจจะกำหนดลงโทษมากกว่าที่ผู้ฟ้องเรียกไปก็ได้

10) ถ้าผู้ถูกฟ้องเป็นนิติบุคคล หากพบว่ามีการฉ้อฉลหลอกลวงผู้บริโภค หรือยักย้ายถ่ายเททรัพย์สิน ศาลมีอำนาจเรียกหุ้นส่วนร่วมของผู้ประกอบการนั้นเป็นจำเลยร่วม และอาจพิพากษาผู้ถือหุ้นต้องรับผิดชอบต่อผู้บริโภคด้วย

พูดง่ายๆ ว่าจะไม่เกิดกรณีผู้ประกอบการล้มบนฟูก ปล่อยให้ผู้บริโภคเสียหายโดยไม่มีคนรับผิดชอบ

ผู้ประกอบการ นักธุรกิจบางคน เกรงกลัวกฎหมายฉบับนี้มาก เพราะคิดว่าเป็นวิธีพิจารณาคดีที่คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคมาก ทั้งๆ ที่ ในความเป็นจริง ศาลท่านพิจารณาพยานหลักฐานอย่างระเอียดรอบคอบ ให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ในทุกประเด็น

ใช่ว่าผู้บริโภคอยากจะฟ้องเล่นๆ หรือฟ้องเรียกค่าเสียหายเกินจริงแล้วจะกระทำได้ เพราะการกระทำเช่นนั้น มีความผิดตามกฎหมาย

แม้ในคดีที่ผมฟ้อง ผมเห็นว่าบริษัทนกแอร์ควรจะต้องรับผิดชอบด้วย เพราะพนักงานนกแอร์รู้อยู่แก่ใจว่าไม่มีการตรวจวัตถุระเบิดและโลหะในตัวผู้โดยสาร แต่ก็ยังไม่แก้ไขป้องกัน ยังให้กัปตันพนักงานขับเครื่องบินของนกแอร์นำเครื่องขึ้นบิน โดยอ้างว่าตนเองไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายต้องทำ แต่ศาลท่านก็ยกเว้นโทษให้บริษัทนกแอร์

จึงอยากจะเรียนผู้ประกอบการทั้งหลายว่า การที่สนามบินนครศรีธรรมราชโดยกรมการขนส่งทางอากาศต้องจ่ายชดใช้ค่าเสียหาย 5 หมื่นบาทนั้น บริษัททั้งหลายอย่าได้คิดเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อย เพราะเงิน 5 หมื่นบาท เมื่อเทียบกับเงินลงทุนเป็นร้อยเป็นพันล้านของตน มันน้อยนิดเดียว

แต่อยากจะขอให้ผู้ประกอบการทั้งหลาย ได้ตระหนักถึงบทลงโทษตามคำพิพากษา ว่าเป็นการสร้างบรรทัดฐาน เป็นมาตรฐานที่ต้องปรับปรุงการให้บริการสินค้าและบริการที่ต้องมีคุณภาพ และเคารพในสิทธิของผู้บริโภคมากขึ้น

ระบบการพิจารณาคดีผู้บริโภคแบบใหม่นี้ จะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยกันดูแลผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรม เมื่อผู้ประกอบการได้รายได้จากผู้บริโภคแล้ว ก็ควรให้ผู้บริโภคได้รับสินค้าและบริการที่ดีตามสัญญาหรือการโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่ให้ไว้ และมีความปลอดภัยให้มาตรฐานที่เหมาะสม เพราะหากถูกฟ้องร้องแพ้คดีแม้จะจ่ายเงินค่าเสียหายไม่มาก แต่ก็ต้องเสื่อมเสียชื่อเสียงไปตลอด

ขอชื่นชมผู้ริเริ่มในฝ่ายตุลาการ และผู้มีส่วนร่วมในการผลักดันกฎหมายฉบับนี้ ตลอดจนสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติทุกคนที่สนับสนุนให้ผ่าน พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่มีอำนาจผูกขาด

กฎหมายทำให้คนทุกคน เป็นคนดีไม่ได้ แต่กฎหมายดีๆ อาจช่วยป้องกันและให้ความเป็นธรรม เพื่อมิให้คนไม่ดีเอารัดเอาเปรียบคนอื่นๆ ในสังคมอย่างลอยนวล

ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยรังสิต
ภาพประจำตัวสมาชิก
paopong
 
โพสต์: 323
ลงทะเบียนเมื่อ: 28 พ.ค. 2006, 18:14
ที่อยู่: 182/28 ถ.ศรีจันทร์ อ.เมือง จ.ขอนแก่น 40000

Re: อยากให้ลองอ่านข่าวนี้ PL law ที่เรากังวล

โพสต์โดย sukanya_rx19 » 19 ม.ค. 2009, 15:41

apotheker เขียน:ปิดร้านแล้ว ไปเดินสายฟ้องร้านยาที่ขายยาโดยไม่มีเภสัชกรตามเวลาที่ระบุไว้ดีไหม ได้สักร้านละหมื่นก็รวยแล้ว M18



เข้าท่านะพี่ 55+ รวยเลยนะเนี่ย
ภาพประจำตัวสมาชิก
sukanya_rx19
Global Moderator
 
โพสต์: 2148
ลงทะเบียนเมื่อ: 12 มี.ค. 2005, 16:06
ที่อยู่: ยโสธร

Re: อยากให้ลองอ่านข่าวนี้ PL law ที่เรากังวล

โพสต์โดย เภสัชทุง » 20 ม.ค. 2009, 01:04

apotheker เขียน:ปิดร้านแล้ว ไปเดินสายฟ้องร้านยาที่ขายยาโดยไม่มีเภสัชกรตามเวลาที่ระบุไว้ดีไหม ได้สักร้านละหมื่นก็รวยแล้ว M18


หากจะฟ้องศาลคดีผู้บริโภค ต้องไปซื้อยาที่ร้านนั้น เพื่อให้เข้าองค์ประกอบของกฎหมายที่มีการจ่ายค่าสินค้า และหาข้อบกพร่องจากการจ่ายยาจากผู้ขายที่ไม่ใช่เภสัชกร เช่น ไม่มีการแนะนำการใช้ยาที่ถูกต้อง จ่ายยาไม่ถูกโรคถูกขนาด ก็จะทำให้มีมูลที่จะเรียกร้องทางแพ่งได้ครับ
ภาพประจำตัวสมาชิก
เภสัชทุง
 
โพสต์: 417
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 ก.พ. 2004, 23:57

Re: อยากให้ลองอ่านข่าวนี้ PL law ที่เรากังวล

โพสต์โดย paopong » 20 ม.ค. 2009, 08:21

เภสัชทุง เขียน:
apotheker เขียน:ปิดร้านแล้ว ไปเดินสายฟ้องร้านยาที่ขายยาโดยไม่มีเภสัชกรตามเวลาที่ระบุไว้ดีไหม ได้สักร้านละหมื่นก็รวยแล้ว M18


หากจะฟ้องศาลคดีผู้บริโภค ต้องไปซื้อยาที่ร้านนั้น เพื่อให้เข้าองค์ประกอบของกฎหมายที่มีการจ่ายค่าสินค้า และหาข้อบกพร่องจากการจ่ายยาจากผู้ขายที่ไม่ใช่เภสัชกร เช่น ไม่มีการแนะนำการใช้ยาที่ถูกต้อง จ่ายยาไม่ถูกโรคถูกขนาด ก็จะทำให้มีมูลที่จะเรียกร้องทางแพ่งได้ครับ



เท่าที่ได้เห็นการเรียกร้องของ กฎหมายนี้ ยังขึ้นอยู่กับภาวะจิตใจด้วยนะครับ ถ้าทำให้เข้าใจผิดว่ามีเภสัชอยู่จริง แล้วจ่ายยามาให้ สุดท้ายรู้ว่าไม่ใช่เภสัชแล้วเกิดความวิตกกังวล อาจจะเป็นช่องทางให้ฟ้องร้องได้ครับ

ดังนั้นร้านยาแขวนที่ขึ้นว่า "ขายยาโดยเภสัชกร" อาจจะโดนได้เต็มๆ
ภาพประจำตัวสมาชิก
paopong
 
โพสต์: 323
ลงทะเบียนเมื่อ: 28 พ.ค. 2006, 18:14
ที่อยู่: 182/28 ถ.ศรีจันทร์ อ.เมือง จ.ขอนแก่น 40000

Re: อยากให้ลองอ่านข่าวนี้ PL law ที่เรากังวล

โพสต์โดย apotheker » 20 ม.ค. 2009, 09:34

เอาเข้าจริงๆ ป้ายตามกฎหมายที่ร้านยาต้องมี นั่นก็พอแล้วครับ ป้ายที่บอกเวลาปฏิบัติการน่ะ ขย.1 มีทุกร้าน ถ้าไม่มีเภสัชกรอยู่ตามเวลาที่บอก
ก็ฟ้องได้แล้ว

ตอนนี้มีข่าวแว่วมาว่า อาจโยงถึงการไม่เขียนชื่อยาบนซองยา ไม่ระบุวันหมดอายุ วิธีกิน ก็อาจโดนด้วย ต่อไปอาจจะต้องขายแต่ยาเป็นแผงๆเท่านั้นเพราะมีข้อมูลครบถ้วน ไม่ทราบเท็จจริงประการใด เข้าทางร้านยาเขนสโตร์เลยนะเนี่ย :lol:
รูปภาพ
ภาพประจำตัวสมาชิก
apotheker
Global Moderator
 
โพสต์: 2435
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.พ. 2004, 11:48
ที่อยู่: simcity

Re: อยากให้ลองอ่านข่าวนี้ PL law ที่เรากังวล

โพสต์โดย เภสัชทุง » 20 ม.ค. 2009, 14:11

paopong เขียน:
เภสัชทุง เขียน:
apotheker เขียน:ปิดร้านแล้ว ไปเดินสายฟ้องร้านยาที่ขายยาโดยไม่มีเภสัชกรตามเวลาที่ระบุไว้ดีไหม ได้สักร้านละหมื่นก็รวยแล้ว M18


หากจะฟ้องศาลคดีผู้บริโภค ต้องไปซื้อยาที่ร้านนั้น เพื่อให้เข้าองค์ประกอบของกฎหมายที่มีการจ่ายค่าสินค้า และหาข้อบกพร่องจากการจ่ายยาจากผู้ขายที่ไม่ใช่เภสัชกร เช่น ไม่มีการแนะนำการใช้ยาที่ถูกต้อง จ่ายยาไม่ถูกโรคถูกขนาด ก็จะทำให้มีมูลที่จะเรียกร้องทางแพ่งได้ครับ



เท่าที่ได้เห็นการเรียกร้องของ กฎหมายนี้ ยังขึ้นอยู่กับภาวะจิตใจด้วยนะครับ ถ้าทำให้เข้าใจผิดว่ามีเภสัชอยู่จริง แล้วจ่ายยามาให้ สุดท้ายรู้ว่าไม่ใช่เภสัชแล้วเกิดความวิตกกังวล อาจจะเป็นช่องทางให้ฟ้องร้องได้ครับ

ดังนั้นร้านยาแขวนที่ขึ้นว่า "ขายยาโดยเภสัชกร" อาจจะโดนได้เต็มๆ


กรณีความเสียหายทางจิตใจ ซึ่งเป็นบทบัญญัติของ PL Law หรือ พรบ.ความรับผิดต่อผลิตภัณฑ์ฯ นั้น เมื่อตอนประชุมแกนนำวิชาชีพเภสัชกรรม เมื่อวันที่ 9 ธค. 51 ได้เชิญวิทยากรจาก สคบ.มาพูดให้ฟังเกี่ยวกับ กม.ฉบับนี้ เขาตีความว่า ร้านขายยา ไม่เข้าข่ายบังคับใช้ตาม PL Law ซึ่งจะเน้นผู้ประกอบการที่เป็นผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่ายตรงของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ไม่รวมถึงผู้ให้บริการ อย่างคลินิก ร้านขายยา ครับ

แต่ถ้าเป็นการบังคับใช้ตาม พรบ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 นั้น ร้านขายยามีสิทธิถูกฟ้องร้องได้ หากมีการจ่ายค่าสินค้า และผู้บริโภคได้รับการละเมิดสิทธิ์ครับ
ภาพประจำตัวสมาชิก
เภสัชทุง
 
โพสต์: 417
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 ก.พ. 2004, 23:57

Re: อยากให้ลองอ่านข่าวนี้ PL law ที่เรากังวล

โพสต์โดย paopong » 31 ม.ค. 2009, 08:11

มีข้อมูลจากการสัมมนาเอามาแบ่งปัน

คำถาม ? คำตอบ จากการเสวนา เรื่อง กฎหมายใหม่คุ้มครองผู้บริโภค
? จะทำมาค้าขายอย่างไร ไม่ให้โดนร้องเรียน ?
จัดโดย บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน)
16 ธันวาคม 2551

วิทยากร : คุณธีรวัฒน์ จันทรสมบูรณ์

1) ถาม กรณีบริษัทยา ขายยาให้คลินิกแพทย์แล้ว แพทย์จ่ายยา (แบ่งจ่ายยาจากขวดใส่ซองยา) ให้คนไข้ เมื่อคนไข้รับประทานแล้วเกิดอาการข้างเคียงของยานั้น คนไข้สามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากแพทย์ และบริษัทยา ได้หรือไม่ ผู้รับผิดชอบคือใครบ้าง ?

ตอบ ความสำคัญอยู่ที่ยานั้นเป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัยอันจะทำให้ผู้ผลิตต้องรับผิดหรือไม่ ข้อเท็จจริงตามคำถามจะต้องมีการสอบข้อเท็จจริงเพิ่ม เป็นฉลากยาระบุคำเตือนผู้ใช้ยาว่าเมื่อทานแล้วอาจมีผลข้างเคียงได้ และบอกวิธีการแก้ไขไว้ด้วย ดังนี้ เป็นสินค้าที่ปลอดภัย เมื่อผู้ผลิตพิสูจน์ได้เช่นนี้ ก็ไม่ต้องรับผิด แต่ถ้าข้อเท็จจริงไม่มีฉลากระบุข้อความคำเตือนและวิธีแก้ไขไว้เช่นนี้ ยาที่ว่านี้จัดเป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัย ผู้ผลิตยาต้องรับผิด คนไข้เป็นผู้เสียหายมีสิทธิฟ้อง บริษัทผู้ผลิตยาได้ภายในสามปีนับแต่วันที่ความเสียหายเกิดขึ้น และรู้ตัวผู้ประกอบการที่จะต้องรับผิด ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551
สำหรับแพทย์นั้นกรณีมีฉลากระบุใช้แต่แพทย์ไม่จัดให้มีฉลากดังกล่าวไปพร้อมกับซองยาที่แบ่งให้ตามใช้ กรณีนี้แพทย์ได้กระทำการโดยประมาทเลินเล่อ อันเป็นการกระทำละเมิดกับคนไข้ แต่เป็นการบริการ (การตรวจรักษา) จึงเป็นการละเมิดทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต้องฟ้องแพทย์ภายในอายุความหนึ่งปีนับแต่วันที่รู้ถึงความเสียหายและรู้ตัวผู้กระทำละเมิด และจัดเป็นคดีผู้บริโภคที่คนไข้มีสิทธิฟ้องแพทย์ ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551



2) ถาม การพิสูจน์ข้อยกเว้นไม่ต้องรับผิดของผู้ประกอบการ จะต้องพิสูจน์ให้ได้ครบถ้วนทั้ง 3 ข้อหรือข้อใดข้อหนึ่งก็ได้?

ตอบ ข้อใดข้อหนึ่งก็ได้ สำหรับข้อพิสูจน์ที่กฎหมายบัญญัติว่าผู้ประกอบการไม่ต้องรับผิดเมื่อพิสูจน์ได้ว่าสินค้านั้นมิได้เป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัย หมายความว่าต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าสินค้านั้นไม่มีความบกพร่องในกระบวนการผลิต และพิสูจน์ได้ว่าสินค้านั้นไม่มีความบกพร่องในการออกแบบ และพิสูจน์ได้ว่าสินค้าไม่มีความบกพร่องในการแสดงฉลากสินค้าด้วย



3) ถาม สินค้าบรรจุภัณฑ์ที่เป็นกระดาษ เช่นนมกล่อง หากเกิดความเสียหายในระหว่างการขนส่ง หรือเสียหายบน Shelf ในห้างสรรพสินค้า จากผู้บริโภค (หยิบหล่น) แล้วบุบ/รั่ว แล้ววางทิ้งไว้ เมื่อมีผู้บริโภคอื่นที่ซื้อไปแล้ว เป็นสินค้าที่บุบเสียหาย จะมาเรียกร้องจากผู้ผลิตได้หรือไม่?

ตอบ ตามคำถามสินค้าที่บุบและรั่วเกิดขึ้นระหว่างขนส่งหรือจากผู้บริโภคทำหล่นแล้วบุบรั่วและนำวางไว้ชั้นวางขายเดิม จึงไม่ใช่การกระทำของผู้ผลิต ผู้บริโภคอื่นที่ซื้อไปแล้วจะมาเรียกร้องจากผู้ผลิตไม่ได้ แต่เรียกร้องจากห้างสรรพสินค้าผู้ขายได้ เนื่องจากผู้ขายต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องของสินค้าที่มีการขาย



4) ถาม กรณีสินค้ามี Declare วันหมดอายุแล้ว ผู้บริโภคไม่ได้อ่าน เมื่อบริโภค หรือนำไปใช้แล้ว เกิดผลเสียแก่ร่างกายอนามัย ผู้ประกอบการต้องรับผิดหรือไม่ ?

ตอบ สินค้าที่มีฉลากวันหมดอายุจัดเป็นสินค้าที่ให้ข้อมูลด้านความปลอดภัยแก่ผู้ซื้อ ส่วนความเสียหายเกิดขึ้นต่อร่างกายจากผู้ใช้สินค้านั้นไม่ได้อ่านฉลากก่อน ผู้ประกอบการไม่ต้องรับผิด



5) ถาม กรณีสินค้า Defect กับคนหนึ่ง แต่ไม่ได้ Defect กับคนอื่นๆ เลย (อาจเป็น Case แพ้ หรือ 1 ในล้าน) จะฟ้องผู้ประกอบการได้หรือไม่?

ตอบ ผู้ใช้สินค้าแล้วมีอาการแพ้มีหน้าที่พิสูจน์ว่าตนได้รับความเสียหายต่อร่างกายจากการใช้สินค้าของผู้ประกอบการ และได้ใช้สินค้านั้นเป็นไปตามปกติธรรมดา เมื่อพิสูจน์ได้เช่นนี้ ผู้ใช้สินค้านั้นฟ้องผู้ประกอบการได้ ส่วนผู้ประกอบการจะไม่ต้องรับผิดต่อเมื่อพิสูจน์ได้ว่าสินค้านั้นมิได้เป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัย




6) ถาม กรณีผู้ผลิต ผู้ประกอบการ Declare Label ครบถ้วน แต่ผู้จำหน่าย ไม่ให้ข้อมูลผู้บริโภค ทำให้ ไม่ทราบถึงข้อกำหนด แล้วเกิดความเสียหายต่อผู้บริโภค ใครจะเป็นผู้รับผิด

ตอบ สินค้าที่ผู้จำหน่ายไม่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าจัดเป็นสินค้าที่มีความบกพร่องจากการแสดงฉลากสินค้า ช่วงนี้เป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัย ถ้าผู้ซื้อไม่ทราบข้อมูลดังกล่าวเมื่อใช้แล้วได้รับความเสียหายต่อร่างกาย หรือชีวิต หรือทรัพย์สิน หรือจิตใจ หรือสุขภาพอนามัย ยกเว้นความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตัวสินค้าที่ไม่ปลอดภัย ดังนี้ จัดเป็นความเสียหายในพระราชบัญญัติความรับผิดฯ
ด้วยเหตุนี้ผู้ผลิตในฐานะผู้ประกอบการต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย และสินค้านั้นได้มีการขายให้แก่ผู้บริโภคแล้ว ไม่ว่าความเสียหายนั้นจะเกิดจากการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของผู้ประกอบการหรือไม่ก็ตาม




7) ถาม ถ้าในฉลากมีระบุคำเตือน และในเอกสารกำกับยา มีการระบุถึงผลข้างเคียงของยา คำเตือน ปฏิกิริยาของยาต่อยาอื่น ข้อห้ามใช้ ถือว่าเพียงพอที่จะให้ความปลอดภัยต่อบริษัทหรือไม่?

ตอบ ฉลากที่มีข้อความดังกล่าวยังไม่เพียงพอที่จะให้ความปลอดภัยต่อบริษัทฯ เนื่องจากสินค้าที่ปลอดภัยจะต้องไม่มีความบกพร่องจากกระบวนการผลิตและไม่บกพร่องจากการออกแบบด้วย




8) ถาม ในกรณีที่พบว่าสินค้าไม่ปลอดภัยจากกระบวนการผลิต แต่ผู้บริโภคยังไม่ได้รับประทาน คือ กล่องบวม พบก่อน จากการซื้อมาและเก็บไว้ แต่สินค้ายังไม่หมดอายุ สามารถร้องเรียนได้ถึงขั้นไหน ในการคุ้มครองผู้บริโภค เช่น แค่ Complain หรือเรียกค่าเสียหาย และถ้า Complain หรือแจ้งบริษัทผู้ผลิตแล้ว แต่เหมือนไม่ค่อยสนใจจะมีมาตรการอย่างไร?

ตอบ เรื่องนี้เป็นความชำรุดบกพร่องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้ซื้อจะร้องเรียนที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อให้ผู้ขายและผู้ผลิตรับผิดในความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้น และถ้าผู้ซื้อได้รับความเสียหายจะเรียกค่าเสียหายได้ด้วยแต่มีหน้าที่ต้องพิสูจน์ถึงความเสียหายนั้น
สำหรับกรณีแจ้งบริษัทผู้ผลิตแล้วไม่สนใจ ดังนี้ ผู้ซื้อต้องร้องเรียนต่อหน่วยงานของรัฐเพื่อให้เป็นผู้ช่วยเหลือต่อไปได้ เช่นร้องที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคมีมาตรการออกหนังสือเรียกผู้ผลิตให้มาพบพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้ถ้อยคำหรือ ส่งเอกสาร หากฝ่าฝืนจะมีผลทำให้บริษัทฯ ต้องรับผิดและมีโทษอาญา




9) ถาม ในกรณีที่ส่วนผสมที่ประกอบอยู่ในอาหารมี Allergen (สารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้) แต่มีปริมาณน้อยมาก จากการตรวจสอบกับทางCentral Lab แล้ว ไม่สามารถตรวจพบได้ กรณีนี้ จำเป็นต้อง Declare บนฉลากหรือไม่?

ตอบ ในกรณีดังกล่าว เห็นว่ามีความจำเป็นต้องมีการแสดงข้อมูลเกี่ยวกับสินค้านี้ไว้บนฉลาก เพื่อเป็นการคุ้มครองสำหรับผู้ผลิต เนื่องจากเป็นสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้




10) ถาม ตามนิยามของผู้ประกอบโรคศิลปะ ของเภสัชกร อนุญาตให้เภสัชกรปรุงยาเองได้ หรือในทางปฏิบัติมีการซื้อยามาแบ่งจำหน่าย เช่นนี้จะเข้าลักษณะ PL Law หรือไม่?

ตอบ กรณีเภสัชกรได้รับอนุญาตให้ประกอบโรคศิลปะทำการปรุงยาเองได้เห็นว่าเป็นผู้ผลิตตามคำนิยาม ? ผลิต ? ในพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 สำหรับกรณีมีการซื้อยามาแบ่งจำหน่ายเห็นว่าเป็นผู้จำหน่ายที่ไม่ใช่ผู้ประกอบการตามพระราชบัญญัติความรับผิดฯ




11) ถาม PL Law ครอบคลุมถึงสินค้า หรือสินค้า + บริการ?

ตอบ PL Law ครอบคลุมถึงสินค้าตามนิยามในพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 ไม่รวมถึงบริการ กรณีบริการจะไปเข้าพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551




12) ถาม การซ่อมรถ เข้า PL Law หรือไม่?

ตอบ เห็นว่าเรื่องการซ่อมแซมสินค้าเป็นการทำให้สินค้าที่ชำรุดบกพร่องกลับมาใช้ตามปกติ ไม่ใช่เป็นการผลิต เช่นการซ่อมรถ จึงไม่ใช่เรื่อง PL Law





13) ถาม การกระจายสินค้า หรือการกระทำของ Distributor หรือบริษัทที่ผู้ผลิตสินค้าว่าจ้างให้กระจายสินค้า / การเก็บรักษาสินค้าของร้านค้า หรือตัวแทนจำหน่ายที่เกี่ยวกับสินค้า ทั้งหมดนี้ถือเป็นความรับผิดชอบของผู้ผลิตด้วยหรือไม่?

ตอบ เห็นว่ากรณีดังกล่าวเป็นการกระทำของลูกจ้าง หรือตัวแทน ซึ่งผู้ผลิตในฐานะนายจ้าง หรือตัวการต้องร่วมรับผิดด้วย




14) ถาม กรณีสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ขอให้ยกตัวอย่างสัญญาความรับผิดชอบร่วมกันระหว่างผู้ผลิต (ต่างประเทศ) และผู้นำเข้ามาจำหน่าย?

ตอบ เห็นว่าตามพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 บัญญัติให้ผู้ผลิตก็ดี ผู้นำเข้า จัดเป็นผู้ประกอบการที่ทุกคนต้องร่วมกันรับผิดต่อผู้เสียหายในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย และสินค้านั้นได้มีการขายให้แก่ผู้บริโภคแล้ว ไม่ว่าความเสียหายนั้นจะเกิดขึ้นจากความจงใจหรือประมาทเลินเล่อของผู้ประกอบการหรือไม่ก็ตาม เมื่อเป็นโดยข้อกฎหมายบัญญัติให้ร่วมกันรับผิด จึงไม่ต้องทำเป็นสัญญาอีก




15) ถาม กรณีสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ กฎหมายที่จะใช้บังคับของทั้ง 2 ฝ่าย เช่น International Law นั้นควรเป็นอย่างไร มีกรณีศึกษาหรือไม่? ขอตัวอย่าง

ตอบ เห็นว่าเป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลของแต่ละประเทศ ตัวอย่างจึงเป็นไปตามนั้น




16) ถาม เคยผ่าฟันคุดเมื่อ 2-3 ปีที่แล้วที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง แต่ยังเกิดอาการชาที่ริมฝีปากอยู่ถึงปัจจุบันนี้ รู้สึกรำคาญและรบกวนจิตใจมาตลอด หากจะฟ้องร้องในวันนี้ จะสามารถทำได้หรือไม่?

ตอบ สามารถทำได้ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน




17) ถาม ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งห้ามจำหน่ายสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่ง ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย) หรือสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค จะต้องออกประกาศ คำสั่ง ห้ามจำหน่ายสินค้าชนิดนั้น แล้วแต่กรณีว่าเป็นสินค้าอยู่ในความดูแลของใคร หรือไม่อย่างไร? (ควรมีการออกประกาศ กระทรวงสาธารณสุข หรือคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เมื่อศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดหรือไม่ หรือควรออกประกาศตั้งแต่ศาลชั้นต้นสั่งห้ามจำหน่าย)

ตอบ เรื่องนี้ต้องแยกแยะอำนาจระหว่างศาล กับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งเป็นฝ่ายบริหารออกจากกัน ถ้าเป็นเรื่องที่อยู่ในชั้นศาลแล้ว สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจะไม่ทำอะไรอีกเนื่องจากหากทำไปจะเป็นการก้าวก่ายอำนาจศาล แต่ถ้าเรื่องยังไปไม่ถึงศาล ก็จะเป็นอำนาจของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฝ่ายบริหารที่จะมีคำสั่งได้ตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ สำหรับ อย. นั้นตามกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจในการสั่งห้ามขาย






18) ถาม กรุณายกตัวอย่างของการฟ้องร้องความอาญา จาก PL Law

ตอบ ตาม PL Law เป็นเรื่องความรับผิดในทางแพ่งเท่านั้น จะไม่มีความรับผิดทางอาญา ใน PL Law จึงไม่มีตัวอย่าง




19) ถาม ในกรณีที่ศาลมีอำนาจพิพากษาเกินคำขอ ศาลมีสิทธิพิพากษาความผิดทางอาญาด้วยหรือไม่?

ตอบ ไม่มีสิทธิ์พิพากษาความผิดทางอาญา เนื่องจากตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 บัญญัติให้ศาลมีอำนาจพิพากษาเกินคำขอ ได้แก่เฉพาะคดีแพ่งเท่านั้น




20) ถาม หากมีการทำ Public Recall สินค้าที่ไม่ปลอดภัยแล้ว ร้านค้าไม่ทราบ และยังคงจำหน่ายสินค้าให้ผู้บริโภค หากเกิดความเสียหาย ผู้ใดต้องรับผิดชอบ?

ตอบ เมื่อทำ Public Recall แล้ว โดยหลักต้องถือว่าผู้ผลิตมีความรับผิดชอบต่อสังคม มีจรรยาบรรณในวิชาชีพ เพื่อป้องกันมิให้ผู้บริโภคได้รับอันตรายจากสินค้า แต่ถ้ายังมีกรณีเช่นที่ถามนี้เกิดขึ้นอีก ผู้ผลิตยังต้องรับผิดเนื่องจากตนเป็นผู้ผลิตสินค้านั้น เป็นแต่เพียงว่าเป็นเหตุหนึ่งที่ให้ศาลนำมาประกอบการพิจารณาบรรเทาโทษได้




21) ถาม คณะผู้ไกล่เกลี่ยมาจากไหน? หลักการขอการได้มามีอะไรบ้าง? ต้องมีคุณวุฒิ คุณสมบัติอย่างไร?

ตอบ ไม่มีกฎเกณฑ์กำหนดไว้โดยเฉพาะ ฝ่ายรัฐหรือเอกชนจัดตั้งคณะเจรจาไกล่เกลี่ยได้ สิ่งสำคัญที่ต้องมีในคณะผู้ไกล่เกลี่ยคือความเป็นคนกลางและเป็นที่ยอมรับของสังคม ตลอดจนเป็นผู้มีความรู้และเชี่ยวชาญในเรื่องที่มีการเจรจา




22) ถาม หากบริษัทมีการนำเข้าสินค้ามาจากต่างประเทศ มาทำการแบ่งบรรจุ หากพบว่าคนใช้สินค้าแล้วมีปัญหา หรือเกิดความเสียหายขึ้น ผู้บริโภคจะฟ้องร้องจากบริษัทที่นำเข้า หรือบริษัทผู้ผลิตจากต่างประเทศ (ที่กล่องของสินค้ามีทั้งบริษัทผู้ผลิต และบริษัทผู้นำเข้า)

ตอบ ผู้บริโภคจะฟ้องผู้นำเข้าและผู้ผลิตได้ เนื่องจากบุคคลทั้งสองดังกล่าวเป็นผู้ประกอบการที่ทุกคนต้องร่วมกันรับผิดต่อผู้เสียหายในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไ ม่ปลอดภัย และสินค้านั้นได้มีการขายให้แก่ผู้บริโภคแล้ว ไม่ว่าความเสียหายนั้นจะเกิดขึ้นจากการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของผู้ประกอบการหรือไม่ก็ตาม ในทางปฏิบัติผู้บริโภคจะฟ้องผู้นำเข้าให้รับผิดก่อน สำหรับบริษัทผู้ผลิตที่อยู่ต่างประเทศนั้นจะฟ้องให้รับผิดต่อเมื่อบริษัทผู้นำเข้าชดใช้แล้วแต่ยังไม่สามารถชดใช้ความเสียหายให ้ผู้บริโภคได้ไม่เต็มจำนวนความเสียหายที่เกิดขึ้น




23) ถาม การซื้อบ้านจากโครงการ แล้วระบุว่า กำหนดเสร็จของบ้านพร้อมเข้าอยู่ได้ภายในเดือน พ.ย.2551 โดยทางฝ่ายโอนกรรมสิทธิ์ ขอให้ผู้ซื้อโอนบ้านหลังดังกล่าวก่อนเสร็จจริง แต่พบว่าบ้านไม่เสร็จทันตามกำหนดที่ตั้งไว้ ผู้ซื้อสามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากการสร้างบ้านล่าช้าได้จากใคร และต้องมีหลักฐานข้อมูลอะไรประกอบบ้าง (ในสัญญาระบุเพียงกำหนดเสร็จ แต่ไม่ได้ระบุว่าหากล่าช้าจะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ซื้ออย่างไร)

ตอบ เรื่องนี้มีกำหนดเวลาแล้วเสร็จไว้ในสัญญา เมื่อถึงกำหนดเวลาดังกล่าวแล้วปรากฏว่าผู้ขายสร้างไม่เสร็จ เช่นนี้ ผู้ขายเป็นฝ่ายผิดสัญญา ผู้ซื้อเป็นผู้เสียหาย มีสิทธิ์เรียกร้องและดำเนินการฟ้องผู้ขายให้รับผิดได้แต่ทั้งนี้ ผู้ซื้อต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าตนเองเสียหายจากอะไร จำนวนเท่าใด และมีหลักฐานเกี่ยวกับความเสียหายนั้นประกอบด้วย
แม้เรื่องนี้จะปรากฏว่าผู้ซื้อตกลงรับโอนบ้านหลังดังกล่าวก่อนกำหนดเวลาสร้างบ้านเสร็จที่ระบุไว้ในสัญญาก็ตาม แต่เนื่องจากเป็นการเรียกค่าเสียหายกรณีผู้ขายผิดสัญญาตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติไว้ให้ผู้ซื้อมีสิทธิ์ แม้ในสัญญาจะไม่มีข้อตกลงกำหนดให้เรียกค่าเสียหายไว้ก็ตาม
ภาพประจำตัวสมาชิก
paopong
 
โพสต์: 323
ลงทะเบียนเมื่อ: 28 พ.ค. 2006, 18:14
ที่อยู่: 182/28 ถ.ศรีจันทร์ อ.เมือง จ.ขอนแก่น 40000

Re: อยากให้ลองอ่านข่าวนี้ PL law ที่เรากังวล

โพสต์โดย apotheker » 31 ม.ค. 2009, 09:53

10) ถาม ตามนิยามของผู้ประกอบโรคศิลปะ ของเภสัชกร อนุญาตให้เภสัชกรปรุงยาเองได้ หรือในทางปฏิบัติมีการซื้อยามาแบ่งจำหน่าย เช่นนี้จะเข้าลักษณะ PL Law หรือไม่?

ตอบ กรณีเภสัชกรได้รับอนุญาตให้ประกอบโรคศิลปะทำการปรุงยาเองได้เห็นว่าเป็นผู้ผลิตตามคำนิยาม ? ผลิต ? ในพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551

สำหรับกรณีมีการซื้อยามาแบ่งจำหน่ายเห็นว่าเป็นผู้จำหน่ายที่ไม่ใช่ผู้ประกอบการตามพระราชบัญญัติความรับผิดฯ

แปลว่าเราไม่ต้องรับผิดหรือ งง
รูปภาพ
ภาพประจำตัวสมาชิก
apotheker
Global Moderator
 
โพสต์: 2435
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.พ. 2004, 11:48
ที่อยู่: simcity

Re: อยากให้ลองอ่านข่าวนี้ PL law ที่เรากังวล

โพสต์โดย apotheker » 31 ม.ค. 2009, 10:00

สำหรับแพทย์นั้นกรณีมีฉลากระบุใช้แต่แพทย์ไม่จัดให้มีฉลากดังกล่าวไปพร้อมกับซองยาที่แบ่งให้ตามใช้ กรณีนี้แพทย์ได้กระทำการโดยประมาทเลินเล่อ อันเป็นการกระทำละเมิดกับคนไข้ แต่เป็นการบริการ (การตรวจรักษา) จึงเป็นการละเมิดทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต้องฟ้องแพทย์ภายในอายุความหนึ่งปีนับแต่วันที่รู้ถึงความเสียหายและรู้ตัวผู้กระทำละเมิด และจัดเป็นคดีผู้บริโภคที่คนไข้มีสิทธิฟ้องแพทย์ ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค

แปลว่าไม่ได้แค่ให้ขายยาเป็นแผงเท่านั้น ต้องเอาลีฟเลท ใส่เข้าไปด้วยสิ :eek:

ใครจะโดนฟ้องก่อนวะเนี่ย :twisted:
รูปภาพ
ภาพประจำตัวสมาชิก
apotheker
Global Moderator
 
โพสต์: 2435
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.พ. 2004, 11:48
ที่อยู่: simcity

Re: อยากให้ลองอ่านข่าวนี้ PL law ที่เรากังวล

โพสต์โดย เภสัชทุง » 31 ม.ค. 2009, 14:39

apotheker เขียน:สำหรับกรณีมีการซื้อยามาแบ่งจำหน่ายเห็นว่าเป็นผู้จำหน่ายที่ไม่ใช่ผู้ประกอบการตามพระราชบัญญัติความรับผิดฯ

แปลว่าเราไม่ต้องรับผิดหรือ งง


หากมีความเสียหายแก่ผู้บริโภค ผู้ประกอบการก็ต้องรับผิดครับ แต่จะเป็นกฎหมายใด ขึ้นกับสาระสำคัญที่กฎหมายนั้นกำหนด

กรณี PL Laws หรือ พรบ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย เน้นที่ตัวผู้ผลิต ไม่ใช่ผู้บริการ

แต่ พรบ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค และ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ปพพ.) เน้นทั้งตัวผู้ผลิตและผู้บริการ แต่ต่างกันที่ อายุความของ พรบ.วิฯ ผู้บริโภค 3 ปี ขณะที่ ปพพ. มีแค่ 1 ปี และความสะดวกของการฟ้องร้อง พรบ.วิฯ ผู้บริโภค คล่องตัวกว่า ปพพ.

หากมีความเสียหายที่เกิดจากให้บริการ ทั้งร้านขายยาและคลินิก ต้องฟ้องร้องตามกฎหมาย 2 ฉบับหลังครับ เว้นแต่กรณีเภสัชกรปรุงยาในร้านขายยา จะเข้า PL Laws ครับ
ภาพประจำตัวสมาชิก
เภสัชทุง
 
โพสต์: 417
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 ก.พ. 2004, 23:57

Re: อยากให้ลองอ่านข่าวนี้ PL law ที่เรากังวล

โพสต์โดย apotheker » 31 ม.ค. 2009, 17:20

ขอบคุณครับพี่ทุง
แล้วถ้าเลิกทำร้านยาไปขายข้าวมันไก่ ต้องแปะที่จานด้วยไม๊ครับ
"คำเตือนกินเยอะเกินจะทำให้อ้วนได้" :lol:
รูปภาพ
ภาพประจำตัวสมาชิก
apotheker
Global Moderator
 
โพสต์: 2435
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.พ. 2004, 11:48
ที่อยู่: simcity


ย้อนกลับไปยัง เหตุบ้าน การณ์เมือง

ผู้ใช้งานขณะนี้

New Document