New Document









กิตติรัตน์ ณ ระนอง "การจัดการเชิงกลยุทธ์ ทุกคนต้องจินตนาการว่าเป็นซีอีโอ !

บทความทางเภสัชศาสตร์ และบทความทั่วไป

กิตติรัตน์ ณ ระนอง "การจัดการเชิงกลยุทธ์ ทุกคนต้องจินตนาการว่าเป็นซีอีโอ !

โพสต์โดย pharmakop » 10 เม.ย. 2007, 13:05

เรื่องหนึ่งที่เป็นตัวผลักดันให้องค์กรเดินหน้าไปสู่เป้าหมายโดยไม่สะดุด นั่นก็คือการจัดการเชิงกลยุทธ์และนโยบายอย่างมีประสิทธิภาพ

"กิตติรัตน์ ณ ระนอง" รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาฯ

การจัดการ หมายถึง 2 สิ่ง คือการตัดสินใจและการปฏิบัติ

การตัดสินใจเชิงกลยุทธ์

ลักษณะของการจัดการโดยทั่วไปคือการตัดสินใจหรือการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และนำเอาผลการตัดสินใจไปปฏิบัติ

การตัดสินใจเชิงกลยุทธ์จะประกอบด้วย 6 ลักษณะ

1.การตัดสินใจของผู้บริหารระดับสูง

องค์กรจะรุ่งเรืองได้ด้วยระบบ 2 วิธีคิด คือจากข้างบนลงล่าง กับจากข้างล่างขึ้นข้างบน

"จากข้างบนลงล่างนี้ผู้บริหารระดับสูงมีนโยบายที่ดี งานขององค์กรมันก็ง่ายขึ้น ขณะเดียวกันหลายธุรกิจก็สามารถเจริญงอกงามได้เพราะจากข้างล่างขึ้นไปข้างบน"

2.เป็นการใช้ทรัพยากรของบริษัทที่มาก

ทรัพยากรอาจหมายถึงแรงคน แรงความคิด สิ่งของ สถานที่ เงินเป็นเพียงส่วนหนึ่ง เพราะมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ทำให้ดีขึ้นได้ โดยไม่ต้องใช้เงิน บางทีถ้าได้เงินมาแล้วบริหารไม่ถูกต้องก็เสียหาย

"การตัดสินใจเชิงกลยุทธ์จะมีผลกับอนาคตระยะยาว เพราะว่าเป็นการเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา ขึ้นเขาลงห้วย เมื่อเลี้ยวถูกต้องก็จะส่งผลต่อการเจริญรุ่งเรือง ถ้าเลี้ยวแล้วเราลงถนนก็จะขรุขระ ลำบากยากเย็น"

3.มีผลกับอนาคตและความมั่งคั่งของบริษัทในระยะยาว

4.เป็นการพิจารณาภาวะในอนาคต การคิดกลยุทธ์ต้องคิดว่าข้างหน้าเราเป็นอย่างไร

5.มีความเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานและหลายหน้าที่งาน

6.นำปัจจัยภายนอกมาพิจารณา

แล้วอะไรคือสิ่งที่เรียกว่าเป็นการจัดการเชิง กลยุทธ์ ?

การจัดการเชิงกลยุทธ์ในระดับองค์กรนั้นแบ่งเป็น 3 ระดับ

"ไม่ว่าจะเป็นพนักงานระดับไหนก็ตาม ขอให้จินตนาการว่าท่านคือซีอีโอของสิ่งที่ท่านรับผิดชอบอยู่"

รวมทั้งต้องทำความเข้าใจด้วยว่าทุกคนมีนายทั้งนั้น

"แม้ผมเป็นกรรมการผู้จัดการขององค์กร ผมก็ยังพบว่านายเยอะ มีบอร์ดทั้งบอร์ด แถมยังมีความคาดหวังของคนข้างนอก ถึงแม้เขาจะไม่ได้เป็นคนจ่ายเงินเดือนของเรา แต่เขาก็สามารถวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของเราว่าดีหรือไม่ดีได้ เพราะฉะนั้นโดยสรุปทุกคนมีนายทั้งนั้น ดังนั้นถ้าเราเชื่อว่าเราเป็นซีอีโอในส่วนที่เรารับผิดชอบ ทำให้หน่วยของเราดีขึ้น ก็จะส่งผลรวมให้องค์กรดีขึ้น"

ในการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์นั้นควรจะเอาผู้บริหารจำนวนที่เหมาะสมมาช่วยกันคิด เพราะกำลังจะพานาวาเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาหรือไปทิศเหนือทิศใต้ หากตัดสินใจกันไม่กี่คน โอกาสที่จะเป็นการตัดสินใจที่รอบคอบมันจะน้อย

ยกตัวอย่างเมื่อวันที่ 19 ธันวาคมที่ผ่านมา มีการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ของประเทศ ที่จะดูแลสถานการณ์เรื่องเงินเข้าเงินออก แต่ก็เกิดมีคนสงสัยว่าคิดกันกี่คน จะรอบคอบหรือเปล่า

"แต่ทำไมธนาคารกลางสหรัฐมีการกำหนดวันประชุมชัดเจนเป็นรายเดือน และได้รับการจับตาของทั้งโลก และโลกให้ความเชื่อถือมาก เพราะว่าเขาจะไม่ตัดสินใจก่อนการประชุมครั้งต่อไป ไม่ต้องมาลือกันว่าเป็นอย่างไร ต้องรอกันวันนั้น และยังเป็นการตัดสินใจโดยผู้ทรงคุณวุฒิเต็มองค์คณะ และไม่สงสัยว่าคนที่ตัดสินใจจะไปหวังประโยชน์อื่นใดหรือเปล่า"

เพราะฉะนั้นการตัดสินใจโดยการใช้จำนวนผู้บริหารที่เพียงพอหรือเหมาะสม จะมีข้อดีคือมีข้อมูลการตัดสินใจที่มาก มีความรอบคอบในการตัดสินใจ มีความเข้าใจที่ดีในผลของการตัดสินใจ ความเข้าใจที่ดีคืออย่างน้อยมีคนที่อยู่ร่วมประชุมได้ฟังข้อดีข้อเสียการถกแถลงต่างๆ แล้วก็ตัดสินใจร่วมกัน

อีกทั้งจะต้องมีความเข้าใจในการแบ่งหน้าที่ เพราะเมื่อตัดสินใจแล้วก็ต้องแยกย้ายกันไปทำ เมื่อมีการประชุมหารืออย่างครบถ้วน เมื่อแยกกันไปทำก็จะเป็นทีมที่ดี

แต่ก็มีข้อที่ต้องระวังคือภาวะถกเถียง !

การชี้ให้เลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาแล้วบอกให้ตามฉันมา จะไม่เกิดภาวะถกเถียง จะเกิดภาวะคุกรุ่นต่างหาก เกิดความรู้สึก เลี้ยวซ้ายไม่ถามสักคำ เลี้ยวขวาไม่ถามสักคำ แต่บางคนก็รู้สึกอีกแบบคือไม่ต้องถามฉัน เมื่อเลี้ยวซ้ายไม่ถามฉันก็จะได้ไม่รู้สึกปวดหัวด้วย แต่ความจริงต้องรับกรรม เมื่อเลี้ยวซ้ายแล้วถนนมันขรุขระ

ในการประชุมกันจะพบว่า คนนี้พูดที คนโน้นพูดที บางคนพูดตรงท้าย บางคนพูดตรงนี้ตรงนั้น ซึ่งจะทำให้มีปัญหาในการจับประเด็น

"วิธีแก้ง่ายนิดเดียวคือเอากระดานมา เสนออะไรที่เป็นสถานการณ์และข้อเท็จจริงอะไร เขียนใส่กระดานทั้งหมด เป็นการหยิบประเด็นที่อยู่ในสมองไปวางร่วมกันบนกระดาน เมื่อถกกันเสร็จแล้วให้ทุกคนมองไปที่กระดาน 80 เปอร์เซ็นต์จะมีคำตอบ เพราะว่าข้อเท็จจริงที่เห็นตรงกันอยู่ตรงนั้น"

อีกอย่างถ้าหากคนตัดสินใจไม่ใช่คนปฏิบัติ คนปฏิบัติไม่อยู่ในการตัดสินใจก็มีข้อเสีย เพราะการตัดสินใจจะไม่รอบคอบ รัดกุม บางทีปฏิบัติลำบากหรือปฏิบัติไม่ได้

และการไม่สื่อสารจะเป็นข้อเสีย ทำให้ไม่เกิดความเข้าใจว่าเราจะไปทิศไหน เพราะถ้าคนข้างในมองอย่างไม่เข้าใจ มองอย่างไม่สบายใจ มองอย่างผิดหวัง มองอย่างไม่เชื่อถือ ก็เป็นเรื่องเสียหาย

และสิ่งที่เรียกว่ากลยุทธ์ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม

กลุ่มกลยุทธ์พื้นฐาน

1.เพิ่มประสิทธิภาพ (efficiency) การจัดการ บริหารเวลาก็เป็นสิ่งที่เพิ่มประสิทธิภาพ การที่จะดูแลไม่ให้เกิดการรั่วไหล ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สิน หรือวัตถุดิบอะไรก็แล้วแต่ ถ้าเราพยายามคิดว่าทุกอย่างเป็นของเราเอง แต่ถ้าว่าเป็นของเราเองเราจะปล่อยปละแบบนั้นไหม ถ้าเป็นของเราเองเราจะพยายามใช้ให้คุ้มค่ากว่านี้ไหม

2.การสร้างความแตกต่าง เพื่อความโดดเด่น (differentiation)

3.การมุ่งเน้น (focus) คือว่าเมื่อเราจะทำอะไรในองค์กรที่เราทำอยู่ร้อยแปดประการ แต่เราจะเน้น 2 สิ่ง 3 สิ่งเท่านั้น ซึ่งก็เป็นไปตามกฎ 80/20 (law of 80/20)

"งานที่ท่านทำอยู่ทุกวันนี้ ถ้าท่านจะต้องทำถึง 10 เรื่อง ให้ท่านจับ 2 เรื่องให้ดีนะครับ ผลลัพธ์ความสำเร็จมันอยู่ 80% ในการที่จะมุ่งเน้นในแต่ละช่วงเวลาเลือกมุ่งเน้นบางเรื่อง เพราะเป็นไปไม่ได้หรอกที่จะบอกทุกคนว่า เอาล่ะนะ เรามาปรับปรุงการทำงานของเรา แล้วก็ทำทั้งหมด 10 เรื่อง ขอให้ความสำคัญเต็มที่ทุกเรื่อง มันเป็นเรื่องยากนะครับ แต่ถ้าเราบอกว่า เราจะทำเต็มที่ทุกเรื่องนะ โดยเฉพาะ 2 เรื่องนี้ และถ้าทำ 2 เรื่องนี้ได้ดีจริงๆ ความสำเร็จจะมาแล้ว"

กลุ่มกลยุทธ์เฉพาะ

โดยการกำหนดกลยุทธ์เฉพาะหนีไม่พ้น 15 ข้อ

1.เพิ่มความรัดกุม (concentration) ดูสิว่าตรงนี้คำว่ารัดกุมมันไม่เหมือนกันในแต่ละหน่วยงาน เพิ่มความรัดกุมในการจัดส่ง ไหนเราลองมาดูสิว่าแต่ละจุดที่เราจะไปส่งหนังสือพิมพ์ในจุดต่างๆ ถ้าเรารัดกุมมันคือเส้นทางในการเดินรถหรือในแต่ละจุด ในการที่เราจะส่งหนังสือให้ถูกต้องในจำนวนที่ว่านี้ เรารัดกุมดีหรือยัง ? ผมขออภัยถ้าผมยกตัวอย่างที่มันไม่ตรง แต่ว่า concentration คือการเอาใจใส่กับจุดนั้น

2.การขยายตลาด (market development) ก็ถือเป็นการดำเนินกลยุทธ์

3.การพัฒนาสินค้า (product development) สินค้าที่มีอยู่เดิมนี้เราพัฒนาอะไรได้อีก เราเปลี่ยน แปลงรูปแบบ เปลี่ยนแปลงสีสัน หรือแม้ แต่การปรับปรุงรูปแบบบางประการก็ถือเป็นการพัฒนา

4.ค้นคิดสิ่งแปลกใหม่ (innovation) ในทุกองค์กรสามารถมีอะไรใหม่ได้ เราอาจเกิดจากการสังเกตสิ่งอื่น สิ่งอื่นที่อาจจะไม่ใช่อุตสาหกรรมเดียวกัน แต่เอามาปรับใช้กับองค์กรของตัวเอง

5.รวมกิจการที่แข่งขันเข้ามาเพิ่มธุรกิจ เขาเรียกว่า horizontal integration รวมกิจการที่เกื้อหนุนกันเพื่อขยายธุรกิจ เช่น เราซื้อวัตถุดิบกับคู่ค้ารายนี้มากเสียจนคิดว่าถ้ารวมกันเป็นหนึ่งเดียวมันจะเกิดประโยชน์มาก

6.รวมกิจการที่เกื้อหนุนเพื่อขยายธุรกิจ (vertical integration)

7.เข้าร่วมทุนกับผู้อื่น (joint venture) คือเราเห็นว่าเขามีธุรกิจที่ดี ถ้านำความคิดความรู้ คอนเน็กชั่นของเราเข้าไปรวมกับเขาแล้วเขาก็จะดีขึ้น ในเมื่อเราเป็นผู้ร่วมทุนกับเขาแล้วเราก็จะดีขึ้น

8.การทำงานร่วมกันกับพันธมิตร (strategic alliances)

9.การร่วมทุนเฉพาะโครงการ (consortia) เพราะการทำงานหลายอย่าง ทำงานเองคนเดียว เหนื่อยยาก ลำบาก โอกาสน้อยกว่าการที่เราเลือกพันธมิตรที่ถูกต้อง การทำงานร่วมกับพันธมิตรที่ถูกต้องมันจะมีแต่ความสำเร็จที่เกิดขึ้นได้โดยง่าย

10.การทำธุรกิจใหม่ที่ใกล้เคียงจากที่ท่านทำอยู่ (concentric diversification)

11.การทำธุรกิจใหม่ที่แตกต่างจากเดิมโดยสิ้นเชิงเลย (conglomerate diversification) คำว่าแตกต่างจากเดิมโดยสิ้นเชิง ไม่ได้หมายความถึงสิ่งที่ทำไม่ได้ เพราะสามารถใช้ทรัพยากรของท่านที่มีอยู่เดิม ไปทำธุรกิจใหม่ซึ่งไม่เกี่ยวกับธุรกิจที่ทำอยู่เดิม

12.การฟื้นฟูธุรกิจให้กลับมาดียิ่งขึ้น (turnaround) ในบางองค์กร ในบางกรณีองค์กรเขากำลังทรุดโทรมไปจากภาวะการแข่งขัน จากการบริหารจัดการที่ต้องปรับปรุง ในการที่จะประกาศกลยุทธ์ว่าเราจะฟื้นฟูธุรกิจให้กลับมา

13.การตัดขายธุรกิจบางด้าน (divertiture) คือธุรกิจบางด้านนั้นลองดูแล้วมันไม่ดี มันไม่ประสบความสำเร็จ อาจจะต้องยอมแพ้ แต่ไม่ใช่ยอมแพ้เพราะธุรกิจมันไม่ดี แต่ว่าธุรกิจนั้นเราเก่งไม่พอที่จะทำ ของนั้นถ้าไปอยู่ในมือของอีกคนแล้วเขาทำสำเร็จ

14.ฟื้นฟูกิจการให้อยู่รอด (bankruptcy protection) คำว่า bankruptcy protection แปลว่ากิจการบางอย่างในภาวะที่ติดลบมหาศาล แต่ก็สามารถฟื้นฟูกิจการให้อยู่รอดได้โดยใช้กระบวนการปลดปล่อย กระบวนการของความน่าเชื่อถือ การเริ่มทำงานใหม่ การเปลี่ยนแปลงอะไรหลายๆ อย่าง

15.การเลิกกิจการ (liquidation) ก็ถือเป็นกลยุทธ์

และ "กิตติรัตน์" ยังได้ฝากคำพูดหนึ่งไว้ให้ทุนมนุษย์ทุกท่านลองนำไปไตร่ตรองดู

นั่นคือ "ฉันทำ ฉันเข้าใจ" !
ภาพประจำตัวสมาชิก
pharmakop
 
โพสต์: 227
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ค. 2006, 15:41
ที่อยู่: ร้อยเอ็ด







ย้อนกลับไปยัง อาราบิก้า

ผู้ใช้งานขณะนี้

New Document