การห้ามเลือด (Hemostasis)
การห้ามเลือดของร่างกาย เป็นขบวนการทางชีวเคมีที่สำคัญของร่างกาย เพื่อควบคุมให้เลือดคงสภาพเป็นของเหลวไหลเวียนเป็นปกติอยู่ภายในหลอดเลือด และเปลี่ยนสภาพเป็นลิ่มเลือด ป้องกันการสูญเสียเลือดจากระบบไหลเวียนเลือดเมื่อเกิดการบาดเจ็บของหลอดเลือด โดยจะมีเกล็ดเลือดและไฟบรินมาปกคลุมบริเวณผนังหลอดเลือดที่เกิดการบาดเจ็บ เพื่อให้เลือดหยุดไหลและเริ่มต้นการซ่อมแซมหลอดเลือดที่เสียหาย ความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือดจะนำไปสู่ความเสี่ยงต่อการเลือดออก (Hemorrhage) และ / หรือ การเกิดลิ่มเลือด (Thrombosis)
การแข็งตัวของเลือดเป็นระบบที่มีความซับซ้อน เกี่ยวข้องกับระบบหลอดเลือด, ระบบเกล็ดเลือด และการสร้างลิ่มเลือด โดยเมื่อเกิดการบาดเจ็บของหลอดเลือด หลอดเลือดจะหดตัวอย่างรวดเร็วและทันที เพื่อจำกัดจำนวนเลือดไม่ให้สูญเสียออกไป นอกจากนั้นเซลล์เยื่อบุของหลอดเลือด (Endothelial cell) จะสร้างสารที่จำเป็นสำหรับการสร้างลิ่มเลือด และกระตุ้นเกล็ดเลือดให้มาเกาะกลุ่มกันบริเวณบาดแผล เรียกกลไกการเกาะกลุ่มกันของเกล็ดเลือดว่า กลไกห้ามเลือดปฐมภูมิ (Primary Hemostasis) สำหรับกลไกห้ามเลือดทุติยภูมิ (Secondary Hemosatasis)จะเกิดจากโปรตีนในเลือดที่เรียกว่า Coagulation factor (ปัจจัยการแข็งตัวของเลือด) ซึ่งผลที่ตามมาคือ ทำให้เกิดลิ่มเลือด และไฟบรินที่ช่วยสร้างความแข็งแรงให้กับกลุ่มของเกล็ดเลือด


I. กลไกห้ามเลือดปฐมภูมิ (Primary hemostasis) ประกอบด้วย 4 ขั้นตอนคือ

1. Platelet adhesion (การเกาะติดของเกล็ดเลือด)
เมื่อเกิดการบาดเจ็บหรือฉีกขาดของหลอดเลือด จะทำให้ชั้นคอลลาเจนของหลอดเลือดโผล่ออกมาสัมผัสกับเกล็ดเลือดได้ และกระตุ้นให้เกล็ดเลือดที่ลอยอยู่ในกระแสเลือด มาติดอยู่บริเวณผนังหลอดเลือดที่เกิดการบาดเจ็บหรือฉีกขาด โดยอาศัยไกลโคโปรตีนที่ชื่อ Von Willebrand factor ( vWF) เป็นตัวเชื่อมระหว่างเกล็ดเลือด และ คอลลาเจนในชั้น Subendothelial tissue ของหลอดเลือด โดย vWF จะจับกับตัวรับบนเกล็ดเลือด (Platelet membrane receptor) GPIb
2. Shape change (การเปลี่ยนแปลงรูปร่างของเกล็ดเลือด)
เกล็ดเลือดที่ได้รับการกระตุ้นจะมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างจากรูปร่างกลมแบนคล้ายจาน (Normal discoid shape) ไปเป็นเซลล์ที่มีแขนขายื่นออกมา (Pseudopod) โดยเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงรูปร่างมีผลมาจากการเหนี่ยวนำของ ADP (ADP-induced shape change)
3. Release of granule contents (การหลั่งสารที่อยู่ในแกรนูล)
หลังจากที่เกล็ดเลือดถูกกระตุ้นและมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างแล้ว เกล็ดเลือดจะหลั่งสารที่อยู่ในแกรนูลอออกมา ได้แก่ Calcium, ADP, Serotonin, vWF, Fibronectin, Thrombospondin, PF4 และ Phospholipid บางชนิด นอกจากนี้ยังมีโปรตีนที่ช่วยในการแข็งตัวเป็นลิ่มเลือดและการซ่อมแซมผนังหลอดเลือดด้วย
4. Platelet aggregation (การเกาะกลุ่มกันของเกล็ดเลือด)
สาร ADP และ TXA2 ที่ถูกหลั่งออกมาจากแกรนูลของเกล็ดเลือด จะกระตุ้นให้เกล็ดเลือดตัวอื่นที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงเกิดการเปลี่ยนแปลงรูปร่าง และหลั่งสารต่างๆ ออกมาอีก นอกจากนั้น ADP ที่ถูกปล่อยออกมาจะกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของผนังหลอดเลือด ทำให้Fibrinogen สามารถจับกับตัวรับบนเกล็ดเลือด (GPllb/llla) ได้ Fibrinogen จึงทำหน้าที่เชื่อมระหว่างเกล็ดเลือด 2 ตัว เมื่อเกล็ดเลือดมาเกาะกลุ่มรวมกันมากขึ้น จะเกิดเป็น Platelet plug อุดบริเวณหลอดเลือดที่เกิดการบาดเจ็บ / ฉีกขาด
II. กลไกห้ามเลือดทุติยภูมิ (Secondary hemostasis / Blood coagulation system) เป็นกลไกที่เริ่มต้นได้จาก 2 pathway คือ

1. Intrinsic หรือ Contact factor pathway เกิดเมื่อเลือดสัมผัสกับชั้น Subendothelium ของหลอดเลือด ประกอบด้วย 4 ขั้นตอนคือ
1) เริ่มต้นจาก FXll ซึ่งเป็นไซโมเจน หรือเอนไซม์ในรูปที่ไม่ออกฤทธิ์ ไปสัมผัสกับ Subendothelium แล้วเปลี่ยนแปลงเป็นรูปที่ออกฤทธิ์ได้ (FXlla)
2) FXl ซึ่งจะรวมกับ HMWK (High molecular weight kininogen) ในรูปสารประกอบเชิงซ้อน FXl-HMWK จะถูก FXlla เปลี่ยนให้เป็น FXla
3) FXla กระตุ้น FlX ให้เป็น FlXa
4) FlXa กระตุ้น FX ให้เป็น FXa โดยมี FVllla เป็น cofactor
2. Extrinsic หรือ Tissue factor pathway เกิดจากการกระตุ้นโดย Tissue factor (Flll) ที่สร้างจากชั้น Subendothelium ของหลอดเลือด ประกอบด้วย 2 ขั้นตอนคือ
1) เมื่อหลอดเลือดได้รับบาดเจ็บ / ฉีกขาด TF จะรวมตัวกับ FVll ได้เป็น TF-FVll ซึ่งจะกระตุ้นให้ FVll เปลี่ยนเป็น FVlla (นอกจากนั้น FlXa, FXlla และ IIa ยังสามารถกระตุ้นให้ FVll เปลี่ยนเป็น FVlla ได้ด้วย)
2) สารประกอบเชิงซ้อน TF-Vlla ที่ได้ จะกระตุ้นให้ FlX และ FX เปลี่ยนเป็น FlXa และ FXa ตามลำดับ
ขั้นตอนสุดท้ายเรียกว่า Final common pathway เริ่มต้นด้วยการทำงานของ FXa ร่วมกับ FVa เป็น cofactor ทำหน้าที่เปลี่ยน Prothrombin (Fll) ให้เป็น Thrombin (Flla) จากนั้นThrombin จะเปลี่ยน Fibrinogen (Fl) ให้เป็น Fibrin (Fla) monomer โดย Fibrin monomer จะเข้ามาเกาะกลุ่มกันเกิดเป็น Soft clot ซึ่งมีลักษณะที่ไม่เสถียร ต้องมีการเปลี่ยนแปลงเป็น Hard clot โดยอาศัย FXllla (Fibrin stabilizing factor) เพื่อทำให้ Clot ที่ได้มีความเสถียรและแข็งแรงมากขึ้น
โปรดติดตามตอนต่อไป