"ภาวิช"จี้ตรวจสอบเอกชนลอบผลิตเภสัชเถื่อน
source: matichon online
เมื่อวันที่ 22 เมษายน ภก.ภาวิช ทองโรจน์ นายกสภาเภสัชกรรม กล่าวว่า สภาฯได้ดำเนินการตรวจสอบพบว่ามีภาคเอกชนบางกลุ่มดำเนินการอันเข้าข่ายเป็นการหลอกลวงประชาชน ด้วยการลงโฆษณาในเว็บไซต์ต่างๆ ว่า "เปิดรับสมัครบุคคลเรียนเป็นผู้ช่วยเภสัชกร โดยใช้เวลาเรียนทั้งหมดเพียง 90 ชั่วโมง แบ่งเป็นการเรียนภาคทฤษฎีกับเภสัชกร 12 ชั่วโมง และภาคปฏิบัติจริงในร้านขายยา 78 ชั่วโมง เสียค่าอบรม 12,000-18,000 บาท" และระบุด้วยว่า หากผ่านการอบรมจะเข้าทำงานในร้านขายยา คลีนิค โรงพยาบาล และเปิดกิจการร้านขายยาได้เช่นเดียวกับเภสัชกร ซึ่งถือเป็นการกระทำผิดกฎหมาย นอกจากนี้ สภาฯกำลังดำเนินการยกร่างระเบียบสภาเภสัชกรรม เกี่ยวกับเครื่องแต่งกายของเภสัชกร ที่จะต้องเป็นเครื่องแบบสีขาว มีตราสภาเภสัชกรรมและเขียนคำว่าเภสัชกร แต่หากเป็นผู้ช่วยเภสัชกรให้ใช้เครื่องแบบสีอื่น ห้ามใช้เครื่องแบบสีขาวเช่นเดียวกับเภสัชกรอย่างในปัจจุบัน เพื่อให้ประชาชนสามารถจำแนกเภสัชกรจริงได้ โดยไม่ถูกหลอกเอาเภสัชกรเถื่อนมาจ่ายยาให้ผู้ใช้บริการ
"ผู้ที่จะสามารถเปิดร้านขายยา ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ต้องผ่านการสอบเพื่อรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม โดยผู้มีสิทธิสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตต้องสำเร็จการศึกษาจากคณะเภสัชศาสตร์ของมหาวิทยาลัยที่สภาเภสัชกรรมรับรองหลักสูตร 5 และ 6 ปี คำอวดอ้างมีงานทำหลังจากผ่านการอบรมเพียง 90 ชั่วโมง สามารถทำงานแทนเภสัชกรถือเป็นการหลอกลวงประชาชน" ภก.ภาวิชกล่าว และว่า สภาเภสัชกรรมมอบให้ฝ่ายกฎหมายดำเนินการเอาผิดการกระทำที่ผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพเภสัชกรรม มีโทษตั้งแต่ว่ากล่าวตักเตือน ภาคทัณฑ์ พักใช้ใบอนุญาตมีกำหนดเวลาตามที่เห็นสมควรแต่ไม่เกินสองปี และเพิกถอนใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.วิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537 แต่หากผู้ที่กระทำการอบรมไม่ใช่เภสัชกรและผู้ที่ผ่านการอบรมแล้วเข้าทำงานในลักษณะทำงานแทนเภสัชกรตามสถานที่ต่างๆ จะมีความผิดตามมาตรา 28 ของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ที่ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมทำการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม หรือแสดงด้วยวิธีใดๆ ให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้มีสิทธิประกอบวิชาชีพโดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ภก.ภาวิชกล่าวว่า ผู้ลักลอบเปิดการอบรมมาจาก 2 สาเหตุ ได้แก่ 1.การขาดแคลนบุคลากรประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม และ 2.ต้องการลดต้นทุนของภาคเอกชน ด้วยการไม่จ้างผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรตัวจริงที่ค่าจ้างจะแพงกว่าการจ้างแค่ผู้ช่วยเภสัชกรแล้วลักลอบแอบให้ทำหน้าที่เป็นเภสัชกรที่มีอยู่ไม่น้อยในภาคเอกชน