New Document









รัฐสวัสดิการ และอนาคตเศรษฐกิจไทย by Dr.KOB

ห้องเภสัชกร

รัฐสวัสดิการ และอนาคตเศรษฐกิจไทย by Dr.KOB

โพสต์โดย blacksmithday » 24 ม.ค. 2011, 07:13

ช่วงนี้ไทยกำลังอยู่บนช่วงหัว เลี้ยวหัวต่อที่สำคัญที่จะกำหนดอนาคตของประเทศในช่วงต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเด็นเรื่องการจะมีรัฐสวัสดิการ เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาเรื่องของความเลื่อมล้ำของรายได้ และปัญหาความยากจนที่มีอยู่มากในบางส่วนของประเทศ โดยเห็นกันว่ารัฐสวัสดิการอาจจะเป็นคำตอบที่จะนำมาซึ่งความปรองดองของส่วน ต่างๆ ของประเทศได้ในที่สุด



ในประเด็นนี้ ถ้าจะพูดไป รัฐสวัสดิการ หรือ Welfare State ไม่ใช่เรื่องใหม่ หลายประเทศในโลกโดยเฉพาะประเทศในยุโรป เช่น เบลเยี่ยม เดนมารก์ สวีเดน ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมัน ได้ให้บริการสาธารณะแก่ประชาชน ทั้งในด้านการศึกษา การสาธารณสุข การคมนาคม รวมถึงการประกันสังคมในด้านต่างๆ อาทิ รายได้ช่วงที่ตกงาน เงินบำนาญหลังเกษียณ เงินอุดหนุนแก่กลุ่มบุคคลต่างๆ โดยอาศัยรายได้จากภาษีจากผู้มีรายได้สูง มาใช้ในการให้บริการสาธารณะเหล่านี้



คำถามสำคัญที่ต้องถามก็คือ ?ไทยพร้อมที่จะไปสู่การเป็นรัฐสวัสดิการแล้วหรือยัง?



ถ้าตอบเร็วๆ ก็ต้องบอกว่า ไทยยังไม่อยู่ในฐานะที่จะไปให้บริการสาธารณะแก่ประชาชนได้ฟรีอย่างเต็มรูปแบบ ในขณะนี้

ที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะว่า ประเทศที่เป็นรัฐสวัสดิการนั้น



(1) ส่วนมากเป็นประเทศที่รัฐมีรายได้เป็นสัดส่วนที่สูงมากของ GDP ประมาณร้อยละ 40-50% โดยอาศัยที่ประชากรส่วนใหญ่อยู่ในฐานภาษี รัฐจึงสามารถจัดเก็บรายได้เป็นจำนวนมาก ทำให้อยู่ในฐานะที่จะจัดให้เกิดรัฐสวัสดิการขึ้น



(2) ประเทศเหล่านี้ได้พัฒนาเศรษฐกิจของตนไปมากแล้วในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ความจำเป็นในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำคัญๆ ที่จะช่วยเอื้อต่อการลงทุนของภาคเอกชน โดยเฉพาะในส่วนของสาธารณูปโภค คมนาคม และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ไม่ได้มีมากอีกต่อไป

แต่สำหรับกรณีของไทย ถ้าพูดกันตามเนื้อผ้า ปัจจุบันรัฐบาลยังคงจัดเก็บภาษีได้ไม่มากนัก มีประชาชนที่จ่ายภาษีแค่เพียง 6 ล้านคน ขณะที่มีประชากรมากกว่า 60 ล้านคน อีกทั้งรายได้ของภาครัฐโดยรวมก็เพียงแค่ประมาณ 17% ของ GDP ด้วยเหตุนี้ การจะให้คนเพียง 10% ทำหน้าที่ในการเสียภาษีเพื่อให้บริการสาธารณะแก่คนที่เหลืออีก 90% คงเป็นเรื่องที่ยาก



ยิ่งไปกว่านั้น ไทยยังมีข้อจำกัดสำคัญ อันเนื่องมาจากความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอีกเป็นจำนวนมาก เพื่อเอื้อต่อการพัฒนาประเทศและลงทุนของภาคเอกชน ส่วนหนึ่งเพื่อเสริมสร้างศักยภาพและเพิ่มรายได้ของประเทศ และอีกส่วนหนึ่งเพื่อแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านที่กำลัง พัฒนาประเทศอย่างขมักเขม้น ถ้าเราล้าหลังในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น หรือมีภาษีที่สูงเกินไป เราก็อาจจะไม่เป็นที่ดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนที่จะย้ายฐานการผลิตมาที่ ประเทศไทย



ณ จุดนี้ ชัดเจนว่า รัฐบาลจะต้องเลือกว่าจะจัดสรรเงินภาษีที่มีอยู่จำกัดไปยัง ?การลงทุน? เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน หรือใช้ไปกับบริการสาธารณะของรัฐสวัสดิการที่พูดกัน ซึ่งในความเป็นจริง จากข้อจำกัดต่างๆ ต่อให้ทำ ต่อให้อยากทำรัฐสวัสดิการแบบเต็มรูปแบบ ก็คงทำได้อย่างจำกัดจำเขี่ย ทำได้แบบครึ่งๆ กลางๆ เท่านั้น และถ้าไม่ระวังให้ดี รัฐจะมีภาระอีกมากจากโครงการเหล่านี้

ทางออกคืออะไร

ทางออกในเรื่องนี้ ต้องอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจบทบาทหน้าที่ของรัฐในอนาคต



ใน 20-30 ปีข้างหน้า รัฐบาลของไทยจะต้องทำหน้าที่ในฐานะผู้ให้ประกันด้านสังคมแก่ประชากรมากขึ้น เรื่อยๆ (Social Insurance) ตรงนี้ไม่มีทางเลี่ยง ส่วนหนึ่งจากปัญหาเรื่องสังคมชราภาพที่ จะมีผู้สูงอายุจำนวนมากขึ้น ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐในการที่จะยังชีพ รวมไปถึงการสาธารณสุข ซึ่งรัฐจะต้องคิดถึงเรื่องรัฐสวัสดิการให้มากขึ้น และเตรียมการตั้งแต่วันนี้

หัวใจสำคัญอยู่ที่รัฐบาลจะก้าว จากจุดนี้ไปยังจุดนั้นได้อย่างไร จากจุดนี้ ที่ยังไม่พร้อม ภายใต้งบประมาณที่จำกัด ทั้งยังมีความต้องการที่จะใช้งบประมาณในด้านต่างๆ รวมไปถึงการพัฒนาประเทศอีกด้วย ไปยังจุดที่เราพร้อมมากขึ้น สามารถเป็นรัฐสวัสดิการเต็มตัวมากขึ้น



ทางออกคงมีไม่มาก ต้องรู้จักจัดสรรเงินที่มีจำกัดไปยังเป้าหมายเศรษฐกิจด้านต่างๆ อย่างเหมาะสม



หนึ่ง ? การออมการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญลำดับต้นๆ เรา จะเป็นรัฐสวัสดิการได้มากขึ้นในอนาคต ถ้าประเทศเจริญขึ้นและรัฐมีรายได้เพิ่มขึ้น ด้วยเหตุนี้ รัฐต้องให้ความสำคัญกับการจัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่งไว้สำหรับลงทุนสำหรับ อนาคต ในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เพื่อพัฒนาประเทศไปข้างหน้าและสร้างประเทศให้เป็นที่น่าสนใจทัดเทียมกับ เพื่อนบ้าน โดยตั้งเป้าหมายที่จะมีวินัยในการกันงบประมาณส่วนหนึ่งไว้สำหรับการลงทุน เช่น 25% ของงบโดยรวมในทุกปีหรือมากกว่า



สอง ? ฉลาดในการเป็นรัฐสวัสดิการ ความเสี่ยงในเรื่องนี้อยู่ที่การเป็นรัฐสวัสดิการอย่างไม่มีสติพอ คือ คิดอะไรได้ หรือใครเสนออะไรมาก็ทำ ท้ายสุด งบประมาณในส่วนสวัสดิการก็จะโป่งพอง ไปกินงบประมาณส่วนอื่นๆ โดยเฉพาะงบลงทุน ตรงนี้ ใช่ รัฐจะต้องเข้าไปดูแลเรื่องความสุข สวัสดิการของประชาชน ตลอดจนความเท่าเทียมของรายได้ แต่รัฐต้องแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยดำเนินการอย่างพอประมาณ มีเหตุผล ตามกำลัง ตามอัตภาพ ไม่มากเกินไป โดยรู้จักกำหนดสัดส่วนสูงสุดของงบประมาณในแต่ละปีที่รัฐจะสามารถให้กับ สวัสดิการสังคม ทั้งทางตรงและอ้อม ทั้งโครงการรัฐ หรือผ่านสำนักงานประกันสังคม ซึ่งจะเป็นภาระผูกพันมาที่รัฐบาลในอนาคต

ตรง นี้ เมื่อมีวงเงินที่จำกัดสำหรับสวัสดิการสังคมและปัญหาความไม่เท่าเทียมกันของ รายได้ รัฐก็จะฟุ่มเฟือยได้ไม่มาก ท้ายสุดก็ต้องเลือก ต้องรู้จักจัดความสำคัญก่อนหลัง เลือกโครงการเฉพาะที่สร้างความอยู่ดีกินดีให้กับประชาชนอย่างแท้จริง โดยคิดถึงรายจ่ายผูกพันในปีนี้และปีข้างหน้าของโครงการอย่างรอบคอบ จะเอาเงินไปทิ้งน้ำไม่ได้ ยิ่งไปกว่านั้น วงเงินที่จำกัดจะกลายเป็นเงื่อนสำคัญ ท้ายสุดก็ต้องเลิกละโครงการประชานิยมที่สร้างหนี้ สร้างความอ่อนแอให้กับประชาชน หันมาเน้นโครงการประชาเข้มแข็ง ที่สร้างรายได้และการอยู่ดีกินดี ให้คนยืนได้ด้วยบนขาของตนเอง



รัฐ ต้องรู้จักใช้เงินน้อยแต่ให้ ได้ผลมาก นำเงินที่มีจำกัดก็จะออกไปยังโครงการสำคัญๆ ที่จะมีผลกับการพัฒนาและรายได้ของประชาชนอย่างยั่งยืน เช่น การพัฒนาคุณภาพการศึกษาทั่วประเทศ การยกระดับเทคโนโลยีการเกษตร การดูแลเรื่องน้ำ การหาระบบที่จะลดผลกระทบจากความผันผวนของราคาเกษตร การดูแลสุขภาพของประชาชน รวมไปถึงการพัฒนาแหล่งเงินออมให้กับชุมชน เพื่อให้เขาช่วยตนเองได้บางส่วน



ท้ายสุด สำหรับเราคนไทยทุกคน โจทย์สำคัญที่ต้องมาช่วยกันคิดตอนนี้ ก็คือ สัดส่วนที่จะจัดสรรให้กับโครงการสวัสดิการสังคมในแต่ละปีควรเป็นเท่าไร และถ้ามีเงินไม่เยอะนัก โครงการสวัสดิการสังคมที่เหมาะสมคืออะไร ก็ขอเอาใจช่วยครับ


http://www.facebook.com/group.php?gid=1 ... 4575236205
รัฐบาลจะทำยังไง หรือจะเอาแต่นโยบายหาเสียงให้ตัวเองกันต่อไปครับท่าน
อ่านดูกันเพื่อเจริญปัญญานะท่านทั้งหลาย
blacksmithday
 
โพสต์: 192
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ก.ย. 2007, 19:21







ย้อนกลับไปยัง เอสเปรสโซ่

ผู้ใช้งานขณะนี้

New Document