New Document









มาตรการควบคุมค่าใช้จ่ายด้านยาของสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้า

ห้องเภสัชกร

มาตรการควบคุมค่าใช้จ่ายด้านยาของสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้า

โพสต์โดย ruralphar » 24 มี.ค. 2010, 12:05

เรื่อง มาตรการควบคุมค่าใช้จ่ายด้านยาของสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการควบคุมการเบิกจ่ายเงินสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้
1. อนุมัติในหลักการให้มีการตรวจสอบและควบคุมการเบิกจ่ายค่ายาบางกลุ่มหรือรายการเป็นไปตามบัญชียาหลักแห่งชาติ หรือตามเงื่อนไขและข้อบ่งชี้ที่องค์กรวิชาชีพกำหนด โดยแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ เพื่อทำหน้าที่ให้ข้อมูลและความคิดเห็น รวมทั้งจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่เกี่ยวกับระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ทั้งนี้ เพื่อให้การพิจารณาและดำเนินการเป็นไปอย่างละเอียดรอบคอบ และสอดคล้องกับฐานอำนาจตามกฎหมาย
2. มอบหมายให้กรมบัญชีกลางร่วมกับหน่วยงานวิชาการที่เกี่ยวข้องศึกษาความเป็นไปได้ในการประยุกต์ใช้ระบบ Medisave สำหรับข้าราชการบรรจุใหม่และแนวทางการอภิบาลระบบเพื่อปฏิรูปองค์กรบริหารจัดการระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ
3. มอบหมายให้กรมบัญชีกลางร่วมกับหน่วยงานวิชาการที่เกี่ยวข้องศึกษาการกำหนดอัตราจ่ายล่วงหน้ารายกลุ่มโรคสำหรับการรักษาประเภทผู้ป่วยภายนอก โดยกรมบัญชีกลางตกลงราคาเหมาจ่ายรายโรคให้กับสถานพยาบาล
สำหรับงบประมาณในการดำเนินการให้ขอทำความตกลงในรายละเอียดกับสำนักงบประมาณต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงการคลัง (กค.) รายงานว่า
1. นายกรัฐมนตรีได้เชิญรองนายกรัฐมนตรี (นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ) ในขณะนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงการคลัง เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องร่วมประชุมหารือเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศไทย เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2552 ณ ห้องรับรอง ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้ กค. โดยกรมบัญชีกลางร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการสำรวจรายชื่อยาที่มีรายงานการเบิกจ่ายสูงในสถานพยาบาลของทางราชการที่มีการให้บริการผู้ป่วยภายนอกเป็นจำนวนมาก จำนวน 34 แห่ง และจัดทำข้อเสนอเพื่อลดการใช้ยาเกินความจำเป็น โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน พร้อมทั้งเร่งรัดศึกษารูปแบบ แนวทางการออมเพื่อสุขภาพ (Medical saving/Medisave) โดยให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ติดตามความก้าวหน้าของการศึกษาอย่างใกล้ชิด นั้น
2. กค. ได้ดำเนินการตามผลการประชุม (ข้อ 1) แล้ว โดยมีรายละเอียด ดังนี้
2.1 ระบบการเบิกจ่ายเงินสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการในปัจจุบัน ประกอบด้วย
2.1.1 กรณีผู้ป่วยภายในเป็นการเบิกจ่ายโดยตรงระหว่างกรมบัญชีกลางกับสถานพยาบาลด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยใช้เกณฑ์การจัดสรรตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (Diagnosis Related Group:DRG)
2.1.2 กรณีผู้ป่วยภายนอกสามารถเบิกจ่ายได้ทั้งการนำใบเสร็จรับเงินไปเบิกจากส่วนราชการต้นสังกัดของผู้มีสิทธิ และการเบิกจ่ายในระบบเบิกจ่ายตรง (เป็นการเบิกจ่ายด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์เช่นเดียวกับกรณีผู้ป่วยภายใน) โดยจ่ายตามรายการที่สถานพยาบาลเรียกเก็บ (Fee for service) ซึ่งเป็นระบบการจ่ายแบบปลายเปิด ยกเว้นบางรายการที่ได้มีการกำหนดอัตราเพดานการเบิกจ่าย
2.2 จากการพิจารณาข้อมูลรายจ่ายค่ารักษาพยาบาลพบว่า ค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยภายใน มีการเพิ่มขึ้นตามสมควร แต่ค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยภายนอกเพิ่มในอัตราที่ค่อนข้างสูงและมีสัดส่วนสูงขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อ เทียบกับค่ารักษาพยาบาลทั้งหมด โดยสัดส่วนค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยภายนอกต่อค่ารักษาพยาบาลทั้งหมดเพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 46 ในปีงบประมาณ พ.ศ.2545 เป็นร้อยละ 74 ในปีงบประมาณ พ.ศ.2552 โดยค่ายาเป็นค่าใช้จ่ายที่มีสัดส่วนการเบิกจ่ายสูงสุดคิดเป็นประมาณร้อยละ 80 ของค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยภายนอกทั้งหมด ซึ่งสาเหตุหลักเป็นเพราะหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายค่ายาที่กำหนดให้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ไม่สามารถควบคุมการใช้ยาและค่าใช้จ่ายด้านยาให้เป็นไป อย่างเหมาะสมได้ ทั้งนี้ กค. โดยกรมบัญชีกลางไม่สามารถดำเนินการบริหารจัดการและกำกับดูแลในเรื่องการเบิกจ่าย ค่ารักษาพยาบาลโดยเฉพาะเรื่องการบริหารจัดการการใช้ยาได้เท่าที่ควร เนื่องจากพระราชบัญญัติการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจ่ายเงินบางประเภทตามงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. 2518 ซึ่งเป็นกฎหมายที่เป็นฐานอำนาจในการตราพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ.2523 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจ่ายเงินสวัสดิการ วิธีการจ่าย อัตราการจ่าย ของผู้มีสิทธิได้รับเงินเท่านั้น แต่ไม่ได้กำหนดอำนาจเกี่ยวกับการบริหารจัดการ กรมบัญชีกลางจึงมีอำนาจหน้าที่เป็นหน่วยเบิกจ่ายเงินสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ แต่ไม่มีฐานอำนาจในการบริหารจัดการ อย่างไรก็ดีได้มีการดำเนินการแก้ไขพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวแล้ว โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการยืนยันร่างกฎหมายที่ได้ตรวจพิจารณาแล้วอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบและนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยต่อไป
2.3 กค. โดยกรมบัญชีกลางได้ขอข้อมูลการสั่งจ่ายยาย้อนหลัง 10 เดือน ในปีงบประมาณ พ.ศ.2552 ของสถานพยาบาลของทางราชการ 34 แห่ง และจากการวิเคราะห์ข้อมูลของสถานพยาบาล จำนวน 31 แห่ง จาก 34 แห่ง พบว่าสถานพยาบาลมีการสั่งยารวม 16.6 ล้านใบ มูลค่ารวม 15,247.96 ล้านบาท ซึ่งเป็นใบสั่งยาที่มีรายการ นอกบัญชียาหลักแห่งชาติร้อยละ 40 คิดเป็นมูลค่า 10,040.48 ล้านบาทหรือร้อยละ 66 ของมูลค่ายารวมทั้งหมด โดยกลุ่มรายการยาที่มีมูลค่าการสั่งใช้ยาค่อนข้างสูงและเป็นรายการยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ รวมทั้งรายการยาที่มีราคาแพงและมีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่ามีการสั่งใช้ยาไม่เหมาะสมไม่เป็นไปตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ แบ่งออกเป็น 9 กลุ่ม
(1) กลุ่มยาลดการเป็นแผลและเลือดออกในกระเพาะอาหาร (Anti-ulcerant/Variceal bleeding)
(2) กลุ่มยาต้านอักเสบที่มิใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs/Anti-osteoarthritis)
(3) กลุ่มยาลดไขมันในเลือด (Antilipidemia)
(4) กลุ่มยาเบื้องต้นในการรักษาความดันโลหิตสูงและภาวะหัวใจล้มเหลวแบบเลือดคั่ง
(Angiotensin converting enzyme (ACE) inhibitors)
(5) กลุ่มยาลดความดันโลหิต (Angiotensin-II receptor blockers : ARBs)
(6) กลุ่มยาป้องกันการเกาะตัวของเกล็ดเลือด (Antiplatelets)
(7) ยาลดอาการข้อเข่าเสื่อม (Glucosamine)
(8) ยาป้องกันโรคกระดูกพรุน (Drug affecting bone metabolism)
(9) กลุ่มยารักษามะเร็ง (Anticancers)
2.4 จากการพิจารณาข้อดี ข้อด้อย ผลกระทบต่อผู้ป่วยและสถานพยาบาล รวมทั้งการประเมินความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติที่จะกำหนดมาตรการควบคุมค่าใช้จ่ายยากลุ่มเป้าหมาย 9 กลุ่มดังกล่าว เห็นควรกำหนดมาตรการควบคุมค่าใช้จ่ายด้านยา โดยให้มีระบบตรวจสอบและควบคุมการเบิกจ่ายค่ายาบางกลุ่มหรือบางรายการให้เป็นไปตามบัญชียาหลักแห่งชาติ หรือตามเงื่อนไขและข้อบ่งชี้ที่องค์กรวิชาชีพกำหนด
2.5 กรณีการนำระบบการออมเพื่อสุขภาพ (Medisave) มาใช้กับสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ จากการศึกษาในเบื้องต้นพบว่า ระบบดังกล่าวเป็นบัญชีเงินออม (Saving account) โดยหักจากเงินเดือนผ่านระบบการจ้างงาน ซึ่งรัฐบาลบังคับให้ประชากรมีการออมเพื่อเป็นหลักประกันสุขภาพ โดยเงินและภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมดเป็นของผู้ออม ดังนั้น การนำระบบ Medisave มาใช้กับข้าราชการบำนาญหรือข้าราชการปัจจุบัน (โดยเฉพาะที่มีอายุมากหรือมีบิดามารดาที่มีอายุมาก) จึงมีความเป็นไปได้น้อย เนื่องจากการบริหารจัดการให้สิทธิประโยชน์ครอบคลุมทำได้ยาก และที่ผ่านมาไม่ได้มีการออมไว้ นอกจากนี้ข้าราชการเหล่านี้ได้ทำงานมานานและได้ช่วยเหลืองบประมาณของประเทศทางอ้อม โดยการยอมรับเงินเดือนและค่าตอบแทนที่ต่ำกว่าภาคเอกชนหากสิทธิประโยชน์ถูกลดไป หรือบังคับให้หักเงินเดือนเพื่อเป็นเงินออมด้านสุขภาพจะไม่เป็นธรรมและเป็นการลิดรอนสิทธิ ทั้งนี้ การนำระบบ Medisave มาใช้กับข้าราชการบรรจุใหม่อาจมีความเป็นไปได้ แต่มีหลายประเด็นที่ต้องพิจารณาและศึกษาเพิ่มเติม เช่น สิทธิประโยชน์ โครงสร้างอายุของผู้ใช้สิทธิ โครงสร้างองค์กรที่กำกับดูแล ตลอดจน กฎหมาย ระเบียบและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น จึงเห็นควรให้มีการศึกษาเพิ่มเติมอย่างละเอียดรอบคอบ ทั้งประเด็นความเป็นไปได้ในการประยุกต์ใช้ระบบ Medisave สำหรับข้าราชการบรรจุใหม่ และแนวทางการอภิบาลระบบเพื่อปฏิรูปองค์กรบริหารจัดการระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ
ruralphar
 
โพสต์: 146
ลงทะเบียนเมื่อ: 28 มิ.ย. 2007, 09:45







Re: มาตรการควบคุมค่าใช้จ่ายด้านยาของสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบา

โพสต์โดย blacksmithday » 24 มี.ค. 2010, 13:06

ก่อนจะเกษียณจะได้เห็นมั้ยเนี่ย จำกัดสิทธิ์ของคนใช้สิทธิ์ 30 บาท :surprised:
blacksmithday
 
โพสต์: 192
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ก.ย. 2007, 19:21


ย้อนกลับไปยัง เอสเปรสโซ่

ผู้ใช้งานขณะนี้

New Document